Section outline

  • สิทธิ

    สิทธิมนุษยชน คือ สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นของพวกเราทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรืออยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าคุณจะมีความเชื่ออะไร หรือใช้ชีวิตแบบไหนก็ตาม

    สิทธิมนุษยชนไม่สามารถถูกพรากไปได้ แต่บางครั้งสิทธิมนุษยชนอาจถูกจำกัด เช่น ถ้าคุณทำผิดกฎหมาย หรือกระทำการที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้ สิทธิมนุษยชนนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าความเป็นมนุษย์ เช่น ความมีศักดิ์ศรี ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความเคารพ และความเป็นอิสระ นอกจากนี้สิทธิมนุษยชนนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวคิดที่เป็นนามธรรมเท่านั้น เพราะสิทธิมนุษยชนคือแนวคิดที่ได้รับการนิยาม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

    สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

    ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว จำนวน 7 ฉบับ จากทั้งหมด 9 ฉบับ ทําให้ประเทศไทยมีพันธะผูกพันในการปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมไปถึงข้อตกลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประชุมระดับโลก โดยองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่หลักในการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย คือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ได้ระบุถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้หลายมาตราด้วยกัน เช่น ในมาตรา 4 นั้นระบุว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง" และ ในหมวดที่ 3 ซึ่งเป็นหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตราที่ 25 ถึง 49 ยังได้บรรยายขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในหลายด้านด้วยกัน เช่น ความยุติธรรมทางอาญา การศึกษา การไม่เลือกปฏิบัติ เสรีภาพในการแสดงออก การไม่ก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เป็นต้น

    นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดทำ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งจัดทำฉบับแรกในปี 2551 ในขณะที่ฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ 3 พ.ศ.2557-2561 โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนนําไปใช้ในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิของประชาชนในประเทศต่อไป

    .....