Section outline

    • บทที่ 1

      บททั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายอิสลาม

       

      ประวัติศาสนาอิสลาม

      อิสลาม” เป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่า การยอมจำนน การปฏิบัติตาม และการนอบน้อม เมื่อนำคำว่า “อิสลาม” มาเป็น ชื่อของศาสนาจึงมีความหมายว่าเป็นศาสนาแห่งการยอมนอบน้อม จำนนต่อพระเจ้า คือ “องค์อัลลอฮ์”  

      ศาสนาอิสลามถูกประทานลงมาจากชั้นฟ้า ด้วยความพอพระทัยของ “องค์อัลลอฮ์”  ที่มอบให้แก่มวลมนุษยชาติ และพระองค์ทรงส่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ลูกชายของอับดุลลอฮ์ ซึ่งเป็นศาสดาคนสุดท้ายมาเป็นความเมตตาแก่ชาวโลกทั้งหลาย เพื่อยืนยันความเป็นเอกะของพระองค์ นำมวลมนุษย์ออกจากความมืดสู่แสงสว่าง พร้อมทั้งยอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระองค์ ด้วยความพอใจและสมัครใจ ปฏิบัติตามคำบัญชาใช้ของพระองค์และออกห่างไกลจากคำสั่งห้ามของพระองค์ พร้อมทั้งยึดมั่นในจริยธรรมอันสูงส่งแห่งอิสลาม โดยปฏิบัติตามหลักปฏิบัติ 5 ประการและเชื่อในหลักศรัทธาอีก 6 ประการ เพื่อให้เกิดคุณธรรมในจิตสำนึกอันจะนำมาซึ่งการเกื้อกูลกันในสังคม

      อิสลาม เป็นศาสนาที่ถูกกำหนดมาจากพระเจ้าผู้ทรงสร้างโลก ซึ่งมีพระนามว่า “องค์อัลลอฮ์” ดังนั้นอิสลามจึงเริ่มต้นตั้งแต่มีมนุษย์คนแรกในโลกนี้คือ “อาดัม” ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้นมาจากดินและสร้างคู่ครองของเขา คือ เฮาวาอ์จากกระดูกซี่โครงด้านซ้ายของเขาและทั้งสองได้ก่อให้เกิด เผ่าพันธุ์มนุษย์เป็นก๊กเป็นเหล่า จวบจนโลกพบกับจุดจบ

      ในทุกยุคทุกสมัย “องค์อัลลอฮ์” ได้แต่งตั้งศาสนทูตของพระองค์เพื่อทำหน้าที่สั่งสอนผู้คนให้รู้จักพระเจ้าที่แท้จริง และปฏิบัติตามข้อบัญญัติของ พระองค์ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน จนกระทั่งถึงยุคของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)ท่านได้เผยแพร่ข้อบัญญัติจาก “องค์อัลลอฮ์”  โดยใช้ชื่อว่า อิสลาม หรือศาสนาอิสลาม ดังนั้นผู้คนทั้งหลายจึงมักเข้าใจว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นใหม่เมื่อ 1400 กว่าปีที่ผ่านมา อิสลามเป็นคำสอนที่ “องค์อัลลอฮ์” ได้กำหนดให้แก่มวลมนุษยชาติในโลกนี้และไม่ใช่คำสอนที่ถูกกำหนดมาเพื่อเฉพาะกลุ่มชนชาวอาหรับเท่านั้น เพียงแต่ว่าศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นชาวอาหรับ จึงเริ่มเผยแพร่จากถิ่นที่อยู่ของท่านและได้ขยายออกสู่ดินแดนต่างๆ ของโลก

      มุสลิม” เป็นคำภาษาอาหรับเช่นกัน หมายถึง ผู้ที่นอบน้อม และยอมจำนนต่อข้อบัญญัติของพระองค์ “องค์อัลลอฮ์” และหมายถึงผู้ที่ยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม

       

      ความเป็นมากฎหมายอิสลาม

      กฎหมายอิสลามหรือที่เรียกว่าชารีอะห์[1] เป็นระบบกฎหมายศาสนาที่ใช้อยู่ในชุมชนของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิม โดยเฉพาะในเนื้อหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในทางครอบครัว กฎหมายอิสลามจึงเป็นสิ่งควบคู่กับชุมชนมุสลิม เพราะกฎหมายอิสลามนั้นมีที่มาจากคำภีร์อัลกุรอานและหะดิษ (คำพูดการกระทำ การยอมรับตลอดถึงการปฏิบัติของท่านนบี) อิจมาอ์ (มติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์มุสลิม) และกิยาส (เทียบเคียงตัวบทและฎีกาสมัยของท่านนบีและสาวก)   ที่มุสลิมทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

       กล่าวโดยทั่วไป กฎหมายอิสลามได้เข้ามาสู่ดินแดนทางเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับการเข้ามาของศาสนาอิสลามโดยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้รู้จักกับระบบกฎหมายอิสลามก่อนที่จะรู้จักกับระบบกฎหมายของชาติตะวันตก เนื่องจากในระยะแรก ๆ นั้น การปกครองมีลักษณะเป็นแว่นแคว้น[2] ซึ่งในแว่นแคว้นที่มีผู้ปกครองเป็นมุสลิมก็ได้มีการนำเอากฎหมายอิสลามมาบังคับใช้กับประชาชนในแว่นแคว้นตน โดยการก่อตั้งสถาบันทางศาสนาอิสลามขึ้นเพื่อทำหน้าที่บริหารกฎหมายอิสลามให้สอดคล้องกับหลักศาสนา โดยที่รัฐบาลกลางก็ได้ยอมรับในการใช้กฎหมายอิสลาม และไม่ได้เข้าแทรกแซงในกิจการ การบริหารกฎหมายอิสลามของแต่ละแว่นแคว้นกฎหมายอิสลามจึงมีสถานภาพเป็นกฎหมายประจำแว่นแคว้นที่ใช้กับประชาชนมุสลิมในแว่นแคว้นนั้นๆ

      ครั้งต่อมาประเทศตะวันตกได้เข้ามาปกครองประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ในฐานะอาณานิคม ทำให้เจ้าอาณานิคมบางแห่งพยายามที่จะทำลายล้างขนบธรรมเนียมของชาวพื้นเมืองที่นับถือศาสนาอิสลาม จึงได้รับการต่อต้านจากประชาชนชาวมุสลิม ประชาชนชาวมุสลิมได้ยืนยันสิทธิ์ที่จะดำเนินชีวิตภายใต้หลักศาสนาอิสลาม ประกอบกับเจ้าอาณานิคมต้องการที่จะให้เกิดความสงบสุข เพื่อจะแสวงหาผลประโยชน์ในอาณานิคม จึงได้ยอมรับกฎหมายอิสลามให้บังคับใช้ในชุมชนมุสลิม ผลจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก[3] ทำให้การใช้กฎหมายอิสลาม จำกัดขอบเขตลงเฉพาะในบางเนื้อหาบางเรื่อง ตามที่รัฐบาลอาณานิคมต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางครอบครัว มรดก และการบริจาคทาน ในขณะที่การใช้กฎหมายอิสลามถูกจำกัดขอบเขตนั้น รัฐบาลอาณานิคมก็ได้พัฒนาระบบกฎหมายของตนเองขึ้นมาบังคับใช้จนกฎหมายเหล่านั้นได้กลายมาเป็นระกฎหมายของอาณานิคมไป

      กฎหมายอิสลาม คือ ประมวลข้อกฎหมายที่มาจากคำสอนศาสนาและหลักนิติศาสตร์ (jurisprudence) พื้นฐานของศาสนาอิสลาม โครงสร้างทางกฎหมายจะครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลและสาธารณชน ตลอดจนครอบคลุมด้านต่าง ๆ ของชีวิตประจำวัน ทั้งระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบ       การดำเนินธุรกิจ ระบบการธนาคาร ระบบธุรกรรมหรือทำสัญญา ความสัมพันธ์ในครอบครัว หลักการอนามัย ปัญหาของสังคม และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้อิทธิพลของหลักชารีอะฮ์ จึงมีอยู่ให้เห็นเสมอในพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของมุสลิมแต่ละคน ตั้งแต่เกิดจนตาย ก่อนจะยกมาเป็นระดับครอบครัว ระดับท้องถิ่น และระดับชาติ

      กฎหมายอิสลามมุ่งคุ้มครองมนุษย์ 5 ในประการได้แก่ (1) ศาสนา (2) ชีวิต (3) สติปัญญา (4) เชื้อสาย (5) ทรัพย์สิน รวมถึงรักษาสิทธิ์ส่วนบุคคลและสิทธิ์ประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนการ    จัดระเบียบสังคมทุกระดับให้เป็นไปตามครรลองที่ถูกต้องและ     เป็นธรรม การปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามมีผลทำให้บุคคลมีความเป็นปกติสุขและสังคมโดยรวม เกิดความสงบเรียบร้อย

      กฎหมายอิสลามได้สาระมาจากพระคัมภีร์อัลกุรอานและใช้อัลหะดิษและอัลอัลสุนนะฮ์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ชี้นำทุกคนให้พึงปฏิบัติติต่อพระเจ้า พึงปฏิบัติต่อตัวเอง และพึงปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยนำอัลกุรอานมาใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานลำดับแรก หากพบตัวบทปรากฏอย่างชัดเจนก็ไม่จำเป็นต้องค้นหาหลักฐานจากอัลอัลสุนนะฮ์ แต่ถ้าไม่พบหลักฐานจากอัลกุรอาน หรือพบหลักฐานแต่หลักฐานไม่ชัดเจน หรือพบหลักฐานแต่หลักฐานไม่มีรายละเอียดมาก สามารถไปค้นหาจากอัลอัลสุนนะฮ์ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินปัญหาหรือขยายเพิ่มเติมได้ โดยแหล่งที่มาทั้ง 2 นี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขแม้กาลเวลาจะผ่านไป

      หลังจากที่ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เสียชีวิตลงราวปี ค.ศ. 633 กิจกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นมากมายหลายกรณีที่เป็นกิจกรรมหรือประเด็นที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและไม่มีปรากฏในอัลกุรอานและอัลสุนนะฮ์ ประชาคมมุสลิมก็จะใช้หลัก อิจญ์ติฮาด (วินิจฉัย) หรือการใช้วิจารณญาณในการนำประเด็นปัญหามาตัดสินให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของอิสลาม และหลักอิจญ์มาอ์ (มตินักปราชญ์) หรือความเห็นเป็นเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ทางกฎหมายอิสลามที่ไม่ขัดต่อแหล่งที่มาหลัก โดยแหล่งที่มาหลังอิจญ์มาอ์และอิจญ์ติฮาด สามารถที่จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและสถานการณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมีพลวัตของกฎหมายชะรีอะฮ์ที่ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว และเป็นที่มาของการเกิดสำนักนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งทุกสำนักกฎหมายอิสลามจะยึดถือจาก        อัลกุรอาน อัลสุนนะฮ์ อิจญ์ติมาอ และกิยาส (การอนุมาน) เรียงตามลำดับ

      กฎหมายอิสลามจะถูกแบ่งเป็นหมวดหมู่ โดยแต่ละสำนักกฎหมายจะแบ่งคล้ายคลึงกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะครอบคลุมเนื้อหาหมวดการประกอบศาสนกิจ หมวดธุรกรรมทางการเงิน การค้า และการลงทุน หมวดการสมรสและกฎหมายครอบครัว หมวดกฎหมายอาญา หมวดส่งเสริมจริยธรรมและศีลธรรมทั่วไป รวมถึงหมวดการบริหารจัดการ การเมือง การปกครอง และอื่น ๆ

      กฎหมายอิสลามที่ใช้ในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง มีความเหมาะสมกับทุกยุคทุกสมัยเนื่องจากรายละเอียดค่อนข้างไม่เจาะลึก แต่จะเน้นโครงสร้างหลักในแต่ละประเภทเท่านั้น เช่น ด้านสังคมเน้นส่งเสริมกันสร้างความดียับยั้งในสิ่งที่เป็นความชั่ว ด้านเศรษฐกิจเน้นการไม่เอาเปรียบ (ริบา) ด้านการเมืองไม่กดขี่ประชาชน (ศุลม์) ซึ่งแตกต่างจากภาคการปฏิบัติต่อพระเจ้า (อิบาดะฮ์) ที่กระชับมากกว่า เพราะระบุชัดเจนทั้งรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอน เช่น การละหมาด และการประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นต้น

       

      การบังคับใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทย

      การบังคับใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยของสุโขทัย อยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยดังกล่าวนโยบายด้านการปกครองที่มีต่อบริเวณที่เรียกว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรูปแบบหัวเมืองประเทศราช[4] กฎหมายอิสลามในสมัยนั้นจึงมีฐานะเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของประชากรในหัวเมืองเหล่านั้น โดยที่รัฐบาลกลางไม่ได้นำเอาหลักกฎหมายแพ่งที่ใช้อยู่ทั่วไปๆ มาบังคับใช้ในหัวเมืองเหล่านี้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าการใช้กฎหมายอิสลามยังคงมีอยู่ แต่ในเวลาต่อมาได้มีการปรับปรุงแนวทางการปกครองหัวเมืองเหล่านี้ใหม่ กระนั้น รัฐบาลก็คงให้ใช้กฎหมายอิสลามอยู่เช่นเดิม ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นรากฐานที่สำคัญของการใช้กฎหมายอิสลาม[5]จนถึงปัจจุบัน

      การใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ได้มีการใช้บังคับตลอดเรื่อยมาดจนกระทั่งถึงปี 2486 ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างนั้นรัฐบาลโดยจอมพลแปลก (ป.) พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ประกาศใช้นโยบายรัฐนิยมและชาตินิยม จึงได้ยกเลิกการใช้กฎหมายอิสลามในเขต 4 จังหวัดดังกล่าวส่งผลทำให้บทบัญญัติบรรพ 5 และบรรพ 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ถูกบังคับใช้ครอบคลุมไปถึงจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลด้วย นับตั้งแต่นั้นมาประชาชนชาวมุสลิมทุกคนต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดกเช่นเดียวกับประชาชนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ของประเทศ[6]

      การยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนพลเมืองผู้นับถือศาสนาอิสลามที่อยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อหาของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับหลักกฎหมายอิสลาม ประกอบกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้หมดอำนาจลงเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามอีกครั้ง[7]

      ในสามจังหวัดภาคใต้มีการใช้กฎหมายชะรีอะฮ์หรือกฎหมายอิสลาม โดยเฉพาะกฎหมายที่ว่าด้วยครอบครัวหรือมรดก (Personal Law) โดยในแต่ละจังหวัดจะมีดาโต๊ะยุติธรรม จังหวัดละ 2 คน ยะลามีเพิ่มมาอีก 1 คนใน อำเภอเบตง รวมทั้งสามจังหวัดจะมีดาโต๊ะ 9 คน ดาโต๊ะจะทำงานอยู่ที่ศาลจังหวัดและศาลเยาวชนและครอบครัว ผู้ที่เป็นดาโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายทั่วไปและกฎหมายอิสลามโดยการสอบคัดเลือก ถือเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการของกระทรวงยุติธรรม[8]

      ทั้งนี้ สำหรับภาคใต้ในกรณีที่โจทย์และจำเลยเป็นมุสลิมนั้นต้องใช้กฎหมายอิสลามในการดำเนินการตามกฎหมาย โดยจะใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายหลักนั้นไม่ได้แต่หากว่าโจทย์หรือจำเลยไม่ได้เป็นนับถือศาสนาอิสลาม กรณีดังกล่าว อีกฝ่ายที่เป็นมุสลิม จะอ้างบังคับใช้กฎหมายอิสลามนั้นไม่ได้ ต้องบังคับใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายของแผ่นดิน เนื่องจากการใช้ดาโต๊ะยุติธรรมตัดสินคดีต้องมีค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้โจทย์และจำเลยส่วนใหญ่จึงหันไปใช้บริการของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (มัจญ์ลิส) แต่อย่างไรก็ตามมักจะเกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (มัจญ์ลิส) ไม่มีอำนาจสั่งการหรือบังคับคดี อย่างกับศาลยุติธรรมนั้นได้

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       



      [1] สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม อะไรในอิสลาม เอกสารเผยแพร่ศาสนา อันดับที่ 1 2521 หน้า 135.

      [2] ปรีดี  เกษมทรัพย์ นิติปรัชญา ภาค 2 บทนำประวิติศาสตร์  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มิตรนาการพิมพ์ 2526)  หน้า 22-23

      [3] กระมล  ทองธรรมชาติ (กับคณะ) เอเชียความรู้ทั่วไป สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2525 หน้า 58

      [4] ลิขิต ธีรเวคิน ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย (กรุงเทพมหานคร : แพร่พิทยา 2521) หน้า 224 (อ้างจากเอกสารกองประสานราชการ กรมการปกครอง เรื่องเกี่ยวกับชายแดนภาคใต้ โดรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง 2521 หน้า 2 )

      [5] พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานีนราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489

      [6] เด่น โต๊ะมีนา ศาลศาสนา เอกสารสำหรับการนำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

      [7] วิศิษฎ์ สิมานนท์ “ดะโต๊ะยุติธรรม” การสัมมนาการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล กระทรวงยุติธรรม 2525 หน้า 353.

      [8] ณรงค์  คิริปะชะนะ แนวกฎหมายอิสลาม ลักษณะมรดก (นครศรีธรรมราช : โรงพิมพ์ศรีอักษร) 2518 หน้า 110-111 (คัดมาจากหนังสือเทศาภิบาล ร.ศ. 126 เล่ม 3 หน้า 14 )