โครงสร้างหัวข้อ

    • หนังสือ icon

      เอกสารประกอบการสอน รายวิชากฎหมายอิสลาม รหัสวิชา 2135446  นี้ได้แบ่ง เนื้อหาในการเรียนการสอนไว้ 15 สัปดาห์ และแบ่งหัวข้อไว้ 12 หัวข้อ แต่ละหัวข้อเรื่อง ใช้เวลาการสอนไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ เฉลี่ยตามความยากง่ายของเนื้อหา โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการเขียน วินิจฉัย และปรับข้อเท็จจริง และเปรียบเทียบระหว่างการใช้กฎหมายอิสลามและกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

      ผู้สอนควรได้ศึกษารายละเอียดแต่ละหัวข้อเรื่องที่สอนจากเอกสาร หนังสือ ตำรา หรือสื่ออื่นๆ ตลอดจนคำสอนต่างๆ ตามหลักอิสลาม หวังว่าเอกสารประกอบการสอนนี้คงอำนวยประโยชน์ต่อการเรียนการสอนตามสมควร หากท่านที่นำไปใช้มีข้อเสนอแนะ ผู้เขียนยินดีรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้


    • URL icon
  • หัวข้อ 1

    • หนังสือ icon

      บทที่ 1

      บททั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายอิสลาม

       

      ประวัติศาสนาอิสลาม

      อิสลาม” เป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่า การยอมจำนน การปฏิบัติตาม และการนอบน้อม เมื่อนำคำว่า “อิสลาม” มาเป็น ชื่อของศาสนาจึงมีความหมายว่าเป็นศาสนาแห่งการยอมนอบน้อม จำนนต่อพระเจ้า คือ “องค์อัลลอฮ์”  

      ศาสนาอิสลามถูกประทานลงมาจากชั้นฟ้า ด้วยความพอพระทัยของ “องค์อัลลอฮ์”  ที่มอบให้แก่มวลมนุษยชาติ และพระองค์ทรงส่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ลูกชายของอับดุลลอฮ์ ซึ่งเป็นศาสดาคนสุดท้ายมาเป็นความเมตตาแก่ชาวโลกทั้งหลาย เพื่อยืนยันความเป็นเอกะของพระองค์ นำมวลมนุษย์ออกจากความมืดสู่แสงสว่าง พร้อมทั้งยอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระองค์ ด้วยความพอใจและสมัครใจ ปฏิบัติตามคำบัญชาใช้ของพระองค์และออกห่างไกลจากคำสั่งห้ามของพระองค์ พร้อมทั้งยึดมั่นในจริยธรรมอันสูงส่งแห่งอิสลาม โดยปฏิบัติตามหลักปฏิบัติ 5 ประการและเชื่อในหลักศรัทธาอีก 6 ประการ เพื่อให้เกิดคุณธรรมในจิตสำนึกอันจะนำมาซึ่งการเกื้อกูลกันในสังคม

      อิสลาม เป็นศาสนาที่ถูกกำหนดมาจากพระเจ้าผู้ทรงสร้างโลก ซึ่งมีพระนามว่า “องค์อัลลอฮ์” ดังนั้นอิสลามจึงเริ่มต้นตั้งแต่มีมนุษย์คนแรกในโลกนี้คือ “อาดัม” ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้นมาจากดินและสร้างคู่ครองของเขา คือ เฮาวาอ์จากกระดูกซี่โครงด้านซ้ายของเขาและทั้งสองได้ก่อให้เกิด เผ่าพันธุ์มนุษย์เป็นก๊กเป็นเหล่า จวบจนโลกพบกับจุดจบ

      ในทุกยุคทุกสมัย “องค์อัลลอฮ์” ได้แต่งตั้งศาสนทูตของพระองค์เพื่อทำหน้าที่สั่งสอนผู้คนให้รู้จักพระเจ้าที่แท้จริง และปฏิบัติตามข้อบัญญัติของ พระองค์ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน จนกระทั่งถึงยุคของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)ท่านได้เผยแพร่ข้อบัญญัติจาก “องค์อัลลอฮ์”  โดยใช้ชื่อว่า อิสลาม หรือศาสนาอิสลาม ดังนั้นผู้คนทั้งหลายจึงมักเข้าใจว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นใหม่เมื่อ 1400 กว่าปีที่ผ่านมา อิสลามเป็นคำสอนที่ “องค์อัลลอฮ์” ได้กำหนดให้แก่มวลมนุษยชาติในโลกนี้และไม่ใช่คำสอนที่ถูกกำหนดมาเพื่อเฉพาะกลุ่มชนชาวอาหรับเท่านั้น เพียงแต่ว่าศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นชาวอาหรับ จึงเริ่มเผยแพร่จากถิ่นที่อยู่ของท่านและได้ขยายออกสู่ดินแดนต่างๆ ของโลก

      มุสลิม” เป็นคำภาษาอาหรับเช่นกัน หมายถึง ผู้ที่นอบน้อม และยอมจำนนต่อข้อบัญญัติของพระองค์ “องค์อัลลอฮ์” และหมายถึงผู้ที่ยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม

       

      ความเป็นมากฎหมายอิสลาม

      กฎหมายอิสลามหรือที่เรียกว่าชารีอะห์[1] เป็นระบบกฎหมายศาสนาที่ใช้อยู่ในชุมชนของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิม โดยเฉพาะในเนื้อหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในทางครอบครัว กฎหมายอิสลามจึงเป็นสิ่งควบคู่กับชุมชนมุสลิม เพราะกฎหมายอิสลามนั้นมีที่มาจากคำภีร์อัลกุรอานและหะดิษ (คำพูดการกระทำ การยอมรับตลอดถึงการปฏิบัติของท่านนบี) อิจมาอ์ (มติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์มุสลิม) และกิยาส (เทียบเคียงตัวบทและฎีกาสมัยของท่านนบีและสาวก)   ที่มุสลิมทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

       กล่าวโดยทั่วไป กฎหมายอิสลามได้เข้ามาสู่ดินแดนทางเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับการเข้ามาของศาสนาอิสลามโดยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้รู้จักกับระบบกฎหมายอิสลามก่อนที่จะรู้จักกับระบบกฎหมายของชาติตะวันตก เนื่องจากในระยะแรก ๆ นั้น การปกครองมีลักษณะเป็นแว่นแคว้น[2] ซึ่งในแว่นแคว้นที่มีผู้ปกครองเป็นมุสลิมก็ได้มีการนำเอากฎหมายอิสลามมาบังคับใช้กับประชาชนในแว่นแคว้นตน โดยการก่อตั้งสถาบันทางศาสนาอิสลามขึ้นเพื่อทำหน้าที่บริหารกฎหมายอิสลามให้สอดคล้องกับหลักศาสนา โดยที่รัฐบาลกลางก็ได้ยอมรับในการใช้กฎหมายอิสลาม และไม่ได้เข้าแทรกแซงในกิจการ การบริหารกฎหมายอิสลามของแต่ละแว่นแคว้นกฎหมายอิสลามจึงมีสถานภาพเป็นกฎหมายประจำแว่นแคว้นที่ใช้กับประชาชนมุสลิมในแว่นแคว้นนั้นๆ

      ครั้งต่อมาประเทศตะวันตกได้เข้ามาปกครองประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ในฐานะอาณานิคม ทำให้เจ้าอาณานิคมบางแห่งพยายามที่จะทำลายล้างขนบธรรมเนียมของชาวพื้นเมืองที่นับถือศาสนาอิสลาม จึงได้รับการต่อต้านจากประชาชนชาวมุสลิม ประชาชนชาวมุสลิมได้ยืนยันสิทธิ์ที่จะดำเนินชีวิตภายใต้หลักศาสนาอิสลาม ประกอบกับเจ้าอาณานิคมต้องการที่จะให้เกิดความสงบสุข เพื่อจะแสวงหาผลประโยชน์ในอาณานิคม จึงได้ยอมรับกฎหมายอิสลามให้บังคับใช้ในชุมชนมุสลิม ผลจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก[3] ทำให้การใช้กฎหมายอิสลาม จำกัดขอบเขตลงเฉพาะในบางเนื้อหาบางเรื่อง ตามที่รัฐบาลอาณานิคมต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางครอบครัว มรดก และการบริจาคทาน ในขณะที่การใช้กฎหมายอิสลามถูกจำกัดขอบเขตนั้น รัฐบาลอาณานิคมก็ได้พัฒนาระบบกฎหมายของตนเองขึ้นมาบังคับใช้จนกฎหมายเหล่านั้นได้กลายมาเป็นระกฎหมายของอาณานิคมไป

      กฎหมายอิสลาม คือ ประมวลข้อกฎหมายที่มาจากคำสอนศาสนาและหลักนิติศาสตร์ (jurisprudence) พื้นฐานของศาสนาอิสลาม โครงสร้างทางกฎหมายจะครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลและสาธารณชน ตลอดจนครอบคลุมด้านต่าง ๆ ของชีวิตประจำวัน ทั้งระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบ       การดำเนินธุรกิจ ระบบการธนาคาร ระบบธุรกรรมหรือทำสัญญา ความสัมพันธ์ในครอบครัว หลักการอนามัย ปัญหาของสังคม และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้อิทธิพลของหลักชารีอะฮ์ จึงมีอยู่ให้เห็นเสมอในพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของมุสลิมแต่ละคน ตั้งแต่เกิดจนตาย ก่อนจะยกมาเป็นระดับครอบครัว ระดับท้องถิ่น และระดับชาติ

      กฎหมายอิสลามมุ่งคุ้มครองมนุษย์ 5 ในประการได้แก่ (1) ศาสนา (2) ชีวิต (3) สติปัญญา (4) เชื้อสาย (5) ทรัพย์สิน รวมถึงรักษาสิทธิ์ส่วนบุคคลและสิทธิ์ประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนการ    จัดระเบียบสังคมทุกระดับให้เป็นไปตามครรลองที่ถูกต้องและ     เป็นธรรม การปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามมีผลทำให้บุคคลมีความเป็นปกติสุขและสังคมโดยรวม เกิดความสงบเรียบร้อย

      กฎหมายอิสลามได้สาระมาจากพระคัมภีร์อัลกุรอานและใช้อัลหะดิษและอัลอัลสุนนะฮ์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ชี้นำทุกคนให้พึงปฏิบัติติต่อพระเจ้า พึงปฏิบัติต่อตัวเอง และพึงปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยนำอัลกุรอานมาใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานลำดับแรก หากพบตัวบทปรากฏอย่างชัดเจนก็ไม่จำเป็นต้องค้นหาหลักฐานจากอัลอัลสุนนะฮ์ แต่ถ้าไม่พบหลักฐานจากอัลกุรอาน หรือพบหลักฐานแต่หลักฐานไม่ชัดเจน หรือพบหลักฐานแต่หลักฐานไม่มีรายละเอียดมาก สามารถไปค้นหาจากอัลอัลสุนนะฮ์ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินปัญหาหรือขยายเพิ่มเติมได้ โดยแหล่งที่มาทั้ง 2 นี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขแม้กาลเวลาจะผ่านไป

      หลังจากที่ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เสียชีวิตลงราวปี ค.ศ. 633 กิจกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นมากมายหลายกรณีที่เป็นกิจกรรมหรือประเด็นที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและไม่มีปรากฏในอัลกุรอานและอัลสุนนะฮ์ ประชาคมมุสลิมก็จะใช้หลัก อิจญ์ติฮาด (วินิจฉัย) หรือการใช้วิจารณญาณในการนำประเด็นปัญหามาตัดสินให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของอิสลาม และหลักอิจญ์มาอ์ (มตินักปราชญ์) หรือความเห็นเป็นเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ทางกฎหมายอิสลามที่ไม่ขัดต่อแหล่งที่มาหลัก โดยแหล่งที่มาหลังอิจญ์มาอ์และอิจญ์ติฮาด สามารถที่จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและสถานการณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมีพลวัตของกฎหมายชะรีอะฮ์ที่ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว และเป็นที่มาของการเกิดสำนักนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งทุกสำนักกฎหมายอิสลามจะยึดถือจาก        อัลกุรอาน อัลสุนนะฮ์ อิจญ์ติมาอ และกิยาส (การอนุมาน) เรียงตามลำดับ

      กฎหมายอิสลามจะถูกแบ่งเป็นหมวดหมู่ โดยแต่ละสำนักกฎหมายจะแบ่งคล้ายคลึงกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะครอบคลุมเนื้อหาหมวดการประกอบศาสนกิจ หมวดธุรกรรมทางการเงิน การค้า และการลงทุน หมวดการสมรสและกฎหมายครอบครัว หมวดกฎหมายอาญา หมวดส่งเสริมจริยธรรมและศีลธรรมทั่วไป รวมถึงหมวดการบริหารจัดการ การเมือง การปกครอง และอื่น ๆ

      กฎหมายอิสลามที่ใช้ในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง มีความเหมาะสมกับทุกยุคทุกสมัยเนื่องจากรายละเอียดค่อนข้างไม่เจาะลึก แต่จะเน้นโครงสร้างหลักในแต่ละประเภทเท่านั้น เช่น ด้านสังคมเน้นส่งเสริมกันสร้างความดียับยั้งในสิ่งที่เป็นความชั่ว ด้านเศรษฐกิจเน้นการไม่เอาเปรียบ (ริบา) ด้านการเมืองไม่กดขี่ประชาชน (ศุลม์) ซึ่งแตกต่างจากภาคการปฏิบัติต่อพระเจ้า (อิบาดะฮ์) ที่กระชับมากกว่า เพราะระบุชัดเจนทั้งรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอน เช่น การละหมาด และการประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นต้น

       

      การบังคับใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทย

      การบังคับใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยของสุโขทัย อยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยดังกล่าวนโยบายด้านการปกครองที่มีต่อบริเวณที่เรียกว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรูปแบบหัวเมืองประเทศราช[4] กฎหมายอิสลามในสมัยนั้นจึงมีฐานะเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของประชากรในหัวเมืองเหล่านั้น โดยที่รัฐบาลกลางไม่ได้นำเอาหลักกฎหมายแพ่งที่ใช้อยู่ทั่วไปๆ มาบังคับใช้ในหัวเมืองเหล่านี้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าการใช้กฎหมายอิสลามยังคงมีอยู่ แต่ในเวลาต่อมาได้มีการปรับปรุงแนวทางการปกครองหัวเมืองเหล่านี้ใหม่ กระนั้น รัฐบาลก็คงให้ใช้กฎหมายอิสลามอยู่เช่นเดิม ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นรากฐานที่สำคัญของการใช้กฎหมายอิสลาม[5]จนถึงปัจจุบัน

      การใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ได้มีการใช้บังคับตลอดเรื่อยมาดจนกระทั่งถึงปี 2486 ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างนั้นรัฐบาลโดยจอมพลแปลก (ป.) พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ประกาศใช้นโยบายรัฐนิยมและชาตินิยม จึงได้ยกเลิกการใช้กฎหมายอิสลามในเขต 4 จังหวัดดังกล่าวส่งผลทำให้บทบัญญัติบรรพ 5 และบรรพ 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ถูกบังคับใช้ครอบคลุมไปถึงจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลด้วย นับตั้งแต่นั้นมาประชาชนชาวมุสลิมทุกคนต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดกเช่นเดียวกับประชาชนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ของประเทศ[6]

      การยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนพลเมืองผู้นับถือศาสนาอิสลามที่อยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเนื้อหาของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับหลักกฎหมายอิสลาม ประกอบกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้หมดอำนาจลงเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามอีกครั้ง[7]

      ในสามจังหวัดภาคใต้มีการใช้กฎหมายชะรีอะฮ์หรือกฎหมายอิสลาม โดยเฉพาะกฎหมายที่ว่าด้วยครอบครัวหรือมรดก (Personal Law) โดยในแต่ละจังหวัดจะมีดาโต๊ะยุติธรรม จังหวัดละ 2 คน ยะลามีเพิ่มมาอีก 1 คนใน อำเภอเบตง รวมทั้งสามจังหวัดจะมีดาโต๊ะ 9 คน ดาโต๊ะจะทำงานอยู่ที่ศาลจังหวัดและศาลเยาวชนและครอบครัว ผู้ที่เป็นดาโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายทั่วไปและกฎหมายอิสลามโดยการสอบคัดเลือก ถือเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการของกระทรวงยุติธรรม[8]

      ทั้งนี้ สำหรับภาคใต้ในกรณีที่โจทย์และจำเลยเป็นมุสลิมนั้นต้องใช้กฎหมายอิสลามในการดำเนินการตามกฎหมาย โดยจะใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายหลักนั้นไม่ได้แต่หากว่าโจทย์หรือจำเลยไม่ได้เป็นนับถือศาสนาอิสลาม กรณีดังกล่าว อีกฝ่ายที่เป็นมุสลิม จะอ้างบังคับใช้กฎหมายอิสลามนั้นไม่ได้ ต้องบังคับใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายของแผ่นดิน เนื่องจากการใช้ดาโต๊ะยุติธรรมตัดสินคดีต้องมีค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้โจทย์และจำเลยส่วนใหญ่จึงหันไปใช้บริการของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (มัจญ์ลิส) แต่อย่างไรก็ตามมักจะเกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (มัจญ์ลิส) ไม่มีอำนาจสั่งการหรือบังคับคดี อย่างกับศาลยุติธรรมนั้นได้

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       

       



      [1] สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม อะไรในอิสลาม เอกสารเผยแพร่ศาสนา อันดับที่ 1 2521 หน้า 135.

      [2] ปรีดี  เกษมทรัพย์ นิติปรัชญา ภาค 2 บทนำประวิติศาสตร์  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มิตรนาการพิมพ์ 2526)  หน้า 22-23

      [3] กระมล  ทองธรรมชาติ (กับคณะ) เอเชียความรู้ทั่วไป สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2525 หน้า 58

      [4] ลิขิต ธีรเวคิน ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย (กรุงเทพมหานคร : แพร่พิทยา 2521) หน้า 224 (อ้างจากเอกสารกองประสานราชการ กรมการปกครอง เรื่องเกี่ยวกับชายแดนภาคใต้ โดรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง 2521 หน้า 2 )

      [5] พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานีนราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489

      [6] เด่น โต๊ะมีนา ศาลศาสนา เอกสารสำหรับการนำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

      [7] วิศิษฎ์ สิมานนท์ “ดะโต๊ะยุติธรรม” การสัมมนาการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล กระทรวงยุติธรรม 2525 หน้า 353.

      [8] ณรงค์  คิริปะชะนะ แนวกฎหมายอิสลาม ลักษณะมรดก (นครศรีธรรมราช : โรงพิมพ์ศรีอักษร) 2518 หน้า 110-111 (คัดมาจากหนังสือเทศาภิบาล ร.ศ. 126 เล่ม 3 หน้า 14 )


    • แบบทดสอบ icon
  • หัวข้อ 2

    • หนังสือ icon

      การสมรสในอิสลามนั้นไม่เพียงแต่เป็นธรรมเนียมทางสังคมที่มีกฎหมายยอมรับเท่านั้นแต่อิสลามยังได้กำหนดมาตรการการสนับสนุนในบางกรณี นอกจากนั้นกฎหมายอิสลามยังได้กำหนดรายละเอียดต่างๆด้วย เช่น องค์ประกอบการทำสัญญาการสมรสพร้อมทั้งเงื่อนไขต่างๆของแต่ละองค์ประกอบอย่างละเอียดและรัดกุมทั้งนี้เพราะการสมรสมีความสำคัญยิ่งที่ควรได้รับการกำหนดแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหมดให้มีวะลีย์(ผู้ปกครอง)ในการทำการสมรสทุกครั้งอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญซึ่งถือว่าเป็นมาตรการอย่างหนึ่งในการกลั่นกรองพิจารณาเลือกชายคู่สมรสที่เหมาะสมจากฝ่ายหญิงด้วย

      หลักการและความหมาย

      ก.หลักการ

      ความผูกพันที่เกิดจากการสมรสเป็นความผูกพันที่แน่นแฟ้นยิ่งกว่าความผูกพันที่เกิดจากข้อผูกพันอย่างอื่นทางสังคม และการสมรสนั้นถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ตามระบบอิสลามซึ่งไม่สนับสนุนการใช้ชีวิตโดดเดี่ยวเป็นโสดโดยไม่จำเป็นทั้งยังห้ามการใช้ชีวิตแบบสำส่อนทางเพศอย่างเด็ดขาดนอกจากนั้นการสมรสยังมีประโยชน์ทางสังคม จิตใจและศาสนาอีกด้วยซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้

      1. เป็นการสนองความต้องการทางเพศ ซึ่งเป็นความต้องการตามธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ การห้ามมิให้มีเพศสัมพันธ์อย่างเด็ดขาดเป็นการฝืนธรรมชาติและการปล่อยให้มีเพศสัมพันธ์ขึ้นอย่างอิสระโดยไม่มีขอบเขตและกฎเกณฑ์ ก็จะทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตทางเพศไม่ผิดอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน แล้วยังเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆอีกด้วย

      2. เป็นการรักษาเผ่าพันธุ์และวงศ์ตระกูลของมนุษย์ ถึงแม้ว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่กำหนดคู่อย่างชัดเจนจะสามารถรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์ไว้ได้เช่นกันแต่เป็นการรักษาที่เต็มไปด้วยปัญหา เด็กที่เกิดมารู้จักแต่เฉพาะมารดาของตัวเองเท่านั้น  โดยไม่รู้ว่าบิดาเป็นใครนั้นเป็นเด็กที่มีปัญหาและอาจสร้างปัญหาให้แก่สังคมได้ขณะเดียวกันไม่มีผู้ปกครองคนใดที่จะรับผิดชอบในการเลี้ยงดูให้การอบรมและให้ความคุ้มครองเหมือนเด็กทั่วไปที่ควรจะได้รับ

      3. เป็นการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง เพราะสังคมนั้นประกอบด้วยครอบครัว เมื่อทุกครอบครัวเป็นครอบครัวที่มั่นคงและมีความสุขก็จะทำให้สังคมมีความเป็นปึกแผ่น มีความสงบสุขและมีความเข้มแข็งไปด้วย

      4. เป็นการสร้างความสุขความรักและความอบอุ่นใจให้แก่คู่สมรส ทั้งเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ ร่วมมือกันในการสร้างครอบครัวและร่วมกันรับผิดชอบต่อลูกๆที่จะมีในอนาคต

      5. เป็นการสร้างความสมบูรณ์ในด้านศาสนา ท่านบี(ศ็อลฯ) ได้กล่าวไว้

      ผู้ใดก็ตามที่อัลลอฮทรงประทานภรรยาที่เป็นกัลยาณีให้แก่เขา แท้จริงพระองค์ได้สนับสนุนเขาครึ่งหนึ่งในศาสนาของเขา ดังนั้นเขาจงยำเกรงต่ออัลลอฮในอีกครึ่งที่เหลือ  รายงานโดย อัฎเฎาะบะรอนีย์และอัลหากิม

      มีหลักฐานเป็นจำนวนมากทั้งในอัลกุรอ่านและหะดิษที่ส่งเสริมการสมรส เช่นอัลลอฮตรัสว่า

      และพวกเจ้าจงจัดการสมรสให้แก่บรรดาผู้เป็นโสดในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้ประพฤติดีในหมู่ทาสชายและทาสหญิงของพวกเจ้า หากแม้นพวกเขาเป็นผู้ยากจน แน่นอนอัลลอฮทรงประทานความร่ำรวยแก่พวกเขาจากความโปรดปรานของพระองค์ และอัลลอฮนั้นทรงไพศาลอีกทั้งรอบรู้ยิ่ง  อัรนูร 32

      ท่านนบี(ศ็อลฯ) กล่าวว่า

      โอ้บรรดาหนุ่มทั้งหลาย ผู้ใดในหมู่พวกเจ้ามีความสามารถในเรื่องภาระของการสมรส เขาจงสมรสเถิด เพราะแท้จริงมันเป็นการลดสายตาให้ต่ำลงและเป็นการรักษาอวัยวะเพศไว้  รายงานโดย บุคคอรีย์และมุสลิม

      .สถานภาพของการสมรสตามบทบัญญัติของอิสลาม

      สถานะของการสมรสทางกฎหมายอิสลามของบุคคลนั้นจะมีความแตกต่างกันตามสภาพของแต่ละคน นักกฎหมายอิสลามได้จำแนกบุคคลเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็น 4 ประเภทคือ

      1. ผู้ที่มีความต้องการทางเพศที่อยู่ในภาวะปกติและค่อนข้างมั่นใจว่าสามารถควบคุมตัวเองมิให้ผิดประเวณีได้  ทั้งยังสามารถที่จะรับภาระและหน้าที่ที่จะเกิดจากการสมรสได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะเช่นนี้ถือว่าสมควรเป็นอย่างยิ่งสำหรับเขาที่จะสมรส

      2. ผู้ที่มีความต้องการทางเพศสูงจนเป็นที่เกรงว่า หากไม่สมรสแล้วอาจจะกระทำความผิดทางเพศได้ ทั้งยังมีความสามารถที่จะรับภาระทางครอบครัวได้ และมั่นใจว่าจะไม่กระทำสิ่งไม่ชอบธรรมต่อคู่สมรส ผู้ที่อยู่ในภาวะเช่นนี้ถือว่าจำเป็น (วาญิบ) ที่จะต้องสมรส ทั้งนี้เพื่อป้องกันตัวเองจากการกระทำในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์

      3. ผู้ที่อยู่ในภาวะปกติทั้งที่มีความสามารถที่จะรับภาระและหน้าที่ที่เกิดจากการสมรสได้ แต่มีความมั่นใจว่าไม่สามารถที่จะประพฤติด้วยความชอบธรรมต่อคู่สมรสได้หรือเป็นบุคคลที่ขาดสมรรถภาพทางเพศ ผู้ที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ การสมรสถือว่าต้องห้าม (หะรอม) สำหรับเขา เพราะการสมรสจะนำไปสู่การสร้างความเดือดร้อนให้แก่คู่สมรสของเขาอย่างแน่นอน

      4. ผู้ที่ขาดสมรรถภาพทางเพศหรือไม่สามารถที่จะรับภาระและหน้าที่ที่เกิดจากการสมรสได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะเช่นนี้ถือว่าไม่สมควรที่จะสมรส

      ค. ความหมายของการสมรส

      การสมรส คือ การให้ชายและหญิงมีความผูกพันกันโดยเป็นสามีภรรยากันตามวิธีที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ความจริงการสมรสตามกฎหมายอิสลามนั้นจะสมบูรณ์เมื่อมีองค์ประกอบและเงื่อนไขอย่างครบถ้วน แม้มิได้จัดพิธีเพื่อการนี้โดยเฉพาะก็ตาม ทั้งนี้เพราะการสมรสนั้นมีสถานะเช่นเดียวกับนิติกรรมสัญญาทั่วๆ ไปจะแตกต่างกันเพียงตรงที่ในการทำสัญญาสมรสนั้นจะต้องมีการเปล่งวาจาในการเสนอ (อีญาบ) และสนอง (เกาะบูล) ซึ่งในการทำสัญญาประเภทอื่นๆ นั้น การเปล่งวาจาถือว่าเป็นสิ่งไม่จำเป็น ตามทัศนะของนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่ และอีกอย่างหนึ่งคือในการสมรสนั้นจะต้องมีพยานบุคคลที่รู้เห็นการสมรส ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการกล่าวหาว่าผิดประเวณีในภายหลัง สำหรับพิธีนั้นเป็นเพียงการประกาศการสมรสเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ท่านนบีได้กล่าวว่า

      เจ้าจงฉลองการสมรสเถิด แม้ด้วยการเชือดแพะตัวเดียวก็ตามรายงานโดย ญะมาอะฮฺ

      อย่างไรก็ตาม การจัดงานฉลองการสมรสนั้นมิได้เป็นองค์ประกอบหรือเงื่อนไขของการสมรสแต่อย่างใด ดังนั้น หากการสมรสใดก็ตามที่มีวะลีย์ของฝ่ายหญิงเป็นผู้เสนอการสมรสและชายผู้สนองการสมรสและมีพยานบุคคลที่รู้เห็นอีกสองคน การสมรสนั่นถือว่าสมบูรณ์ทุกประการ แม้ไม่มีการจัดงานก็ตาม

      ดังนั้น การสมรสตามกฎหมายอิสลามจึงมิใช่พิธีกรรมทางศาสนา แต่เป็นนิติกรรมสัญญาอย่างหนึ่งเหมือนนิติกรรมสัญญาทั่วๆ ไป นักกฎหมายอิสลามจึงให้ความหมายของการสมรสว่า

      การสมรสคือ สัญญาที่มีผลทำให้คู่สมรสได้รับอนุมัติให้เสพสุขจากอีกฝ่ายตามวิธีที่กฎหมายอนุมัติ

      เป็นความหมายของการสมรสที่กำหนดขึ้นโดยนักกฎหมายอิสลามยุคปัจจุบัน ส่วนนักกฎหมายอิสลามในยุคก่อนได้ไห้ความหมายของการสมรสว่า คือ

      การสมรสคือสัญญาที่มีผลส่วนหนึ่งทำให้อนุมัติในการร่วมประเวณีโดยใช้คำสมรสหรือแต่งงานหรือคำแปลของคำดังกล่าว

      ทั้งสองนิยามดังกล่าวถือว่าการสมรสนั้นเป็นสัญญาทางกฎหมายที่มีลักษณะเหมือนกับสัญญาทางกฎหมายอื่นๆ โดยทั่วไป เพียงจะต้องใช้คำเฉพาะเจาะจงที่แน่นอนในการทำสัญญาเท่านั้น ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามทัศนะของมัซฮับชาฟิอีย์ ส่วนมัซฮับอื่นๆ มีความเห็นว่าการใช้คำว่า "สมรส หรือแต่งงาน นั้นมิได้เป็นเงื่อนไขแต่อย่างใด จะใช้คำอะไรก็ได้ที่เป็นที่เข้าใจว่าเป็นการสมรส

      หลักกฎหมายอิสลามฯ มาตรา 22 ได้ให้ความหมายของการสมรส (นิกะฮฺหรือนิกาหุ) ว่า "การผูกนิติสัมพันธ์สมรสระหว่างชายหญิง เพื่อเป็นสามีภริยาโดยพิธีสมรส

      การหมั้น

      การหมั้น เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณในเกือบทุกสังคมของมนุษย์ เมื่อชายหญิงต้องการจะสมรสเป็นสามีภรรยากัน ฝ่ายชายจะทำการสู่ขอฝ่ายหญิงก่อน เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นชอบกันแล้วก็จะจัดพิธีเบื้องต้นเพื่อประกาศให้เป็นที่ทราบว่าทั้งสองฝ่ายได้ตกลงเป็นมั่นเหมาะแล้วว่าจะสมรสเป็นสามีภรรยากันในอนาคต พิธีดังกล่าวเรียกว่า การหมั้น ซึ่งวิธีการและรูปแบบในการหมั้นของแต่ละสังคมนั้นจะมีความแตกต่างกัน แม้แต่สังคมเดียวกันก็อาจจะมีวิธีการและรูปแบบที่แตกต่างกันตามกาลสมัย การหมั้นเป็นประเพณีที่ดีงามอย่างหนึ่งที่มีการปฏิบัติก่อนอิสลามและอิสลามก็ได้รับไว้ เพราะการหมั้นนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ชายหญิงได้ศึกษาความคิด พฤติกรรม บุคลิกภาพและลักษณะต่างๆ ของอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อได้สมรสกันแล้วก็จะสามารถอยู่ร่วมกัน โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็เข้าใจซึ่งกัน และกันสามารถปรับให้เข้ากันได้

      นักกฎหมายอิสลามได้ให้ความหมายของการหมั้นว่า

                “การสู่ขอเพื่อการสมรสของชายผู้หมั้นจากฝ่ายหญิงที่ถูกหมั้น

      ในการหมั้นนั้นผู้หมั้นจะต้องเป็นชายที่จะสมรสเอง หรือผู้ทำหน้าที่แทนโดยได้รับมอบหมายหรือโดยอำนาจโดยไม่จำเป็นจะต้องขอหมั้นจากหญิงที่ถูกหมั้นเอง แต่อาจจะขอหมั้นจากบิดามารดาหรือผู้เป็นวะลีย์ของฝ่ายหญิงก็ได้ สำหรับวิธีการนั้นกฎหมายอิสลามมิได้กำหนดรูปแบบที่แน่นอน แต่ได้ปล่อยไว้ให้เป็นเรื่องของประเพณีของแต่ละสังคมในแต่ละยุคสมัยจะกำหนดขึ้น ดังนั้น การกระทำใดๆ ก็ตามที่สังคมยอมรับว่าเป็นการหมั้นและเป็นการกระทำที่ไม่ขัดกับหลักการของอิสลามก็ให้ถือว่าเป็นการหมั้นที่ถูกต้องตามกฎหมายอิสลามด้วย

      เงื่อนไขในการหมั้น

      แม้ว่ากฎหมายอิสลามไม่ได้กำหนดรูปแบบของการหมั้น แต่ก็ได้กำหนดเงื่อนไขในการหมั้นไว้ทั้งนี้เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่อิสลามกำหนดไว้ และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ตลอดจนความเป็นระเบียบของสังคม

      เงื่อนไขในการหมั้นตามกฎหมายอิสลามมี 2 ประการ คือ

      . เป็นการหมั้นระหว่างชายหญิงที่อนุมัติให้สมรสกันได้ตามกฎหมาย

      กล่าวคือ ชายและหญิงที่จะหมั้นกันนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่อนุมัติให้สมรสกันได้ตามกฎหมายอิสลามในเวลาที่ทำการหมั้นโดยไมได้อยู่ในสภาพต้องห้ามในการสมรสแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการห้ามอย่างถาวรหรือเป็นการห้ามชั่วคราว ทั้งนี้เพราะการหมั้นเป็นการเตรียมการที่จะนำไปสู่การสมรส ซึ่งการสมรสในกรณีที่ชายหญิงเป็นผู้ต้องห้ามสมรสกันจะกระทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้นการหมั้นก็กระทำไม่ได้เช่นกัน

      ผู้ที่จะทำการหมั้นไม่ได้เพราะเป็นบุคคลที่กฎหมายไม่อนุมัติให้สมรสกันนั้นมี 2 ลักษณะ คือ

      1. ผู้ต้องห้ามสมรสอย่างถาวร

      บุคคลที่ห้ามสมรสกันอย่างถาวรตามกฎหมายอิสลามนั้นมีสาเหตุ 3 ประการ คือ

      ก. มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต คือ เป็นผู้สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา พี่น้องของผู้สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป พี่น้องและผู้สืบสายโลหิตของพี่น้องลงมา

      บรรดาปราชญ์กฎหมายอิสลามเห็นพ้องกันว่า ความสัมพันธ์ทางสายโลหิตที่เป็นผลของการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายอิสลามนั้นมีผลโดยสมบูรณ์โดยไม่มีข้อสงสัยแต่อย่างใด

      สำหรับความสัมพันธ์นอกสมรสนั้นจะมีผลเหมือนกับความสัมพันธ์อันเป็นผลของการสมรสหรือไม่ปราชญ์กฎหมายอิสลามมี 2 ทัศนะดังต่อไปนี้

      มัซฮับชาฟีอีย์ มีความเห็นว่า ความสัมพันธ์นอกสมรสจะไม่ทำให้มีผลเป็นบุคคลต้องห้ามในการสมรส แต่อย่างใด เพราะการเป็นบุคคลต้องห้ามในการสมรสนั้นถือได้ว่าเป็นความโปรดปรานหรือเกียรติอย่างหนึ่งอันเป็นผลของการสมรสที่ถูกต้อง ดังนั้นบุคคลที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติทั้งจะต้องได้รับการลงโทษไม่ควรได้รับความโปรดปรานหรือเกียรตดังกล่าวนี้

      ท่านนบี (ศ็อลฯ) ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนโดยมีความว่า

      บุตรนั้นเป็นของสามี และสำหรับผู้ผิดประเวณีนั่นคือความผิดหวังหรือการกีดกันรายงานโดยญะมาอะฮ.ยกเว้นอบูดาวูต

      กล่าวคือ บุตรนั้นจะเป็นของสามีผู้มีความสัมพันธ์กับหญิงที่ถูกตามกฎหมาย โดยที่ชายซึ่งผิดประเวณีจะมีแต่ความผิดหวังไม่สามารถจะเป็นพ่อของบุตรที่เกิดจากการผิดประเวณีได้หรือจะถูกกีดกันมิให้มีสิทธิในตัวบุตร ซึ่งเป็นกรณีที่เคยเกิดขึ้นในสมัยของท่านนบี(ศ็อลฯ) และท่านก็ตัดสินตามหลักการที่เป็นไปตามเนื้อหาของหะดีษนี้

      นอกจากนี้ ชายหญิงที่มีเพศสัมพันธ์นอกสมรส บุตรที่เกิดจากความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเป็นบุตรของหญิงแต่ผู้เดียวเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชายในทางกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้นความสัมพันธ์นอกสมรสจะไม่มีผลใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นชายใดก็ตาม สามารถสมรสกับบุตรสาวนอกสมรสของตนเองได้หรือกับลูกสาวของสตรีที่ตัวเองเคยมีความสัมพันธ์นอกสมรส เป็นต้น

      มัซฮับหะนะฟีย์ มีความเห็นว่า ความสัมพันธ์นอกสมรสก็มีผลเหมือนกับความสัมพันธ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ทั้งนี้โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

      อัลลอฮฺได้ทรงห้ามชายสมรสกับบุตรสาวของตนเอง ซึ่งคำว่าบุตรสาวนั้นครอบคลุมบุตรสาวที่เกิดจากการสมรสและบุตรสาวนอกสมรส เพราะบุตรสาวของคนใดคนหนึ่งคือสตรีที่เกิดจากเชื้อน้ำอสุจิของคนซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เพียงแต่กฎหายอิสลามไม่ยอมรับการเป็นบุตรเท่านั้น จึงมิได้เป็นบุตรของตนตามกฎหมายอันหมายถึงไม่มีความเกี่ยวข้องในทางกฎหมายแต่อย่างใด

       ข. มีความสัมพันธ์ทางการสมรส เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการเกี่ยวดองกันระหว่างผู้ที่จะหมั้นเองหรือการสมรสของบุคคลอื่นที่เป็นญาติผู้สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาของผู้ที่จะหมั้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

      (1) มารดาและผู้สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปของภรรยา

      (2) บุตรและผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมาของภรรยา หากได้ร่วมประเวณีกับภรรยาซึ่งเป็นมารดามาแล้ว

      (3) สตรีที่เคยเป็นภรรยาของบุตรหรือผู้สืบสายโลหิตของบุตรโดยตรงลงมา

      (4) สตรีที่เคยเป็นภรรยาของบิดาหรือผู้สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป

      ค. มีความสัมพันธ์ทางน้ำนม เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกิดจาการดื่มน้ำนมจากแม่นมคนเดียวกัน โดยกฎหมายอิสลามถือว่าผู้ดื่มน้ำนมเป็นเสมือนลูกของแม่นมคนหนึ่ง จึงห้ามสมรสกับทุกคนที่เป็นญาติใกล้ชิดของแม่นมคนนั้นด้วย เช่น บุตรของแม่นม บิดามารดาของแม่นมรวมทั้งสามีของแม่นมตลอดจนทุกคนที่ดื่มน้ำนมจากแม่นมด้วย

      การดื่มน้ำนมที่มีผลเช่นนี้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ ประการแรกจะต้องเป็นการดื่มน้ำนมในช่วงที่ผู้ดื่มมีอายุไม่เกินสองขวบ ประการที่สองจะต้องดื่มน้ำนมไม่น้อยกว่าห้าครั้ง โดยการดื่มแต่ละครั้งจะต้องมีปริมาณมากพอ คือดื่มจนอิ่ม

      อัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติเกี่ยวกับผู้ต้องห้ามสมรสทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวว่า

      “ และจงอย่าสมรสกับบรรดาสตรีที่บิดาของพวกเจ้าได้สมรสมาแล้วนอกจากที่ได้เกิดในอดีต แท้จริงมันเป็นความชั่วช้าความโกรธและหนทางที่เลวร้าย พวกเจ้าถูกห้ามไว้ซึ่งมารดาของพวกเจ้า บุตรหญิงของพวกเจ้า พี่น้องหญิงของพวกเจ้า พี่น้องหญิงของบิดาพวกเจ้า พี่น้องหญิงของมารดาพวกเจ้า บุตรหญิงของพี่น้องชาย บุตรหญิงของพี่น้องหญิงและมารดาที่ให้นมแก่พวกเจ้า พี่น้องหญิงของพวกเจ้าที่เกิดจากการร่วมดื่มน้ำนมจากแม่นมคนเดียวกัน มารดาของภริยาพวกเจ้าและบุตรเลี้ยงของพวกเจ้าที่เคยอยู่ในห้องของพวกเจ้าซึ่งเป็นบุตรของบรรดาภริยาพวกเจ้าที่พวกเจ้าเคยร่วมประเวณีกับพวกนาง แต่หากพวกเจ้ามิเคยร่วมประเวณีกับพวกนาง ก็ไม่เป็นบาปแก่พวกเจ้า และบรรดาภริยาของลูกๆ พวกเจ้าที่มาจากเชื้อพันธุ์ของพวกเจ้า และการที่พวกเจ้าร่วมระหว่างพี่น้องหญิงสองคน ยกเว้นกรณีที่ล่วงไปแล้ว แท้จริงพระองค์ทรงอภัยยิ่งทั้งปรานียิ่ง อันนิซาอ์: 22-23

      ท่านนบี(ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

      “ ต้องห้าม (สมรส) อันเนื่องมาจากการดื่มน้ำนมเหมือนกับการห้ามอันเนื่องมาจากมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต รายงานโดย บุคอรีย์และมุสลิม

      2. ผู้ต้องห้ามสมรสชั่วคราว

      บุคคลต้องห้ามสมรสชั่วคราวตามกฎหมายอิสลามนั้นมีดังต่อไปนี้ คือ

      ก. ผู้หญิงที่มีสามีแล้วจนกว่าจะขาดจากการสมรสกับสามีและพ้นอิดดะฮฺแล้ว

      ข. ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอิดดะฮฺจนกว่าจะพ้นอิดดะฮฺ สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอิดดะฮฺร็อจญ์อีย์ คือ อิดดะฮฺที่เป็นผลของการหย่าที่สามีสามารถกลับคืนดีได้นั้น กฎหมายอิสลามไม่อนุมัติให้ชายอื่นไปสู่ขอโดยเด็ดขาด เพราะในทางกฎหมายถือว่าบุคคลทั้งสองยังเป็นสามีภรรยากันอยู่ สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอิดดะฮฺอันเนื่องจากสามีเสียชีวิตจะไม่อนุมัติเฉพาะการสู่ขอที่ใช้คำพูดที่มีความหมายเป็นการสู่ขออย่างชัดเจน แต่อนุมัติให้ขอโดยใช้ถ้อยคำเลียบเคียงได้ตามที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

      “ และไม่เป็นบาปแก่พวกเจ้าในการที่พวกเจ้าใช้วิธีเลียบเคียงในการขอสตรี หรือพวกเจ้าได้แฝงเร้นไว้ในใจของพวกเจ้า อัลบะเกาะเราะฮฺ (จากอายะฮฺ): 235

      สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอิดดะฮฺบาเอ็น คือ อิดดะฮฺที่สามีคู่หย่าไม่สามารถกลับคืนดีได้นั้น นักกฎหมายอิสลามมัซฮับหะนะฟีย์มีความเห็นว่าไม่อนุมัติให้ขายอื่นขอได้ เพราะอายะฮฺดังกล่าวได้กล่าวถึงบทบัญญัติเฉพาะสตรีที่สามีเสียชีวิตเท่านั้น แต่มัซฮับชาฟีอีย์และมาลิกีย์มีความเห็นว่าอนุมัติให้ชายอื่นขอโดยใช้ถ้อยคำเลียบเคียงได้ ทั้งนี้ โดยเทียบเคียงกับกรณีที่สามีเสียชีวิต ทั้งนี้เพราะ ที่ทั้งสองกรณีสามีไม่สามารถกลับคืนดีได้

      ค. ผู้หญิงต่างศาสนาจนกว่าผู้หญิงนั้นจะเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ เพราะอิสลามไม่อนุมัติให้ชาวมุสลิมสมรสกับผู้หญิงที่นับถือศาสนาอื่นและไม่อนุมัติให้ผู้หญิงมุสลิมสมรสกับผู้ชายที่นับถือศาสนาอื่น อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

      “ และพวกเจ้าจงอย่าสมรสกับบรรดาสตรีผู้ตั้งภาคีจนกว่าพวกนางจะมีความศรัทธาแน่แท้ ทาสหญิงผู้ศรัทธาย่อมดีกว่าหญิงผู้ตั้งภาคี แม้ว่านางจะเป็นที่ชื่นชอบของพวกเจ้าก็ตาม อันบะเกาะเราะฮฺ (จากอายะฮ.) : 221

      อย่างไรก็ตาม อิสลามอนุมัติให้ชายมุสลิมสมรสกับหญิงที่เป็นชาวคัมภีร์ได้ หญิงชาวคัมภีร์คือหญิงที่นับถือศาสนาคริสต์และศาสนายูดายตาม ที่อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

      และบรรดาหญิงบริสุทธิ์ทั้งเป็นไทจากบรรดาผู้ซึ่งได้รับคัมภีร์ก่อนหน้าพวกเจ้า อัลมาอีดะฮ. (จากอายะฮฺ): 5

      ง. การรวมผู้หญิงสองคนที่เป็นญาติสนิททางสายโลหิตเป็นภรรยาของชายคนเดียวกัน การสมรสกับหญิงอีกคนที่เป็นญาติสนิททางสายโลหิตของภรรยาของตนอยู่แล้วย่อมกระทำไม่ได้ กล่าวคือ หญิงสองคนนั้นหากสมมุติว่าคนหนึ่งคนใดเป็นชายทั้งสองก็จะเป็นบุคคลต้องห้ามสมรสกัน ในเมื่อทั้งสองคนเป็นผู้หญิงก็ไม่อนุมัติให้เป็นภรรยาของชายคนเดียวกันในเวลาเดียวกัน อย่างเช่น หญิงสองคนที่เป็นพี่น้องกันหรือหญิงกับน้าสาวของนาง เป็นต้น ดังนั้นผู้หญิงสองคนที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตในลักษณะดังกล่าวก็จะเป็นภรรยาของชายคนเดียวกันในเวลาเดียวกันไม่ได้

      อัลลอฮฺได้ตรัสในเรื่องนี้ว่า

      “ และ (เป็นสิ่งต้องห้าม) ในการที่พวกเจ้ารวมสตรีสองคนที่เป็นพี่น้องกัน (เป็นภรรยาของพวกเจ้า) ” อันนิซาอ์ (จากอายะฮฺ): 23

      ท่านนบี(ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า  

      “ พวกเจ้าจงอย่ารวมระหว่างสตรีคนหนึ่งกับอาสาวของนางและอย่ารวมระหว่างนางกับน้าสาวของนาง รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม

      จ. ชายที่มีภรรยา 4 คนแล้ว ห้ามหมั้นและสมรสกับหญิงคนที่ 5 จนกว่าจะหย่าภรรยาคนใดคนหนึ่งโดยต้องให้พ้นอิดดะฮฺของภรรยาที่ถูกหย่าด้วย หากเป็นการหย่าที่กลับคืนดีได้

      ฉ. ผู้หญิงที่เคยเป็นคู่สมรสที่หย่ามาแล้ว 3 ครั้ง ห้ามสามีคู่หย่าหมั้นหรือสมรสกับนางอีก จนกว่านางจะสมรสกับสามีคนใหม่และอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาตามปกติ หลังจากนั้นได้ขาดจากการสมรสกับสามีคนใหม่และพ้นอิดดะฮฺของสามีคนใหม่แล้ว สามีคนเก่าจึงจะสามารถหมั้นและสมรสได้อีก

      หลักกฎหมายอิสลามฯ ได้บัญญัติเรื่องผู้ต้องห้ามสมรสที่กล่าวทั้งหมดในมาตรา 49 มาตรา 51 มาตรา 52 มาตรา 53 และมาตรา 91

      ข. เป็นการหมั้นสตรีที่ยังไม่มีคู่หมั้น

      หมายถึง สตรีที่ชายจะส่ขอนั้นจะต้องเป็นสตรีที่ยังไม่มีคู่หมั้นที่ได้มีการหมั้นอย่างถูกต้องแล้ว ดังนั้นสตรีที่มีคู่หมั้นแล้วถือว่าเป็นสตรีต้องห้ามและไม่อนุมัติให้ชายอื่นไปสู่ขออีก ทั้งนี้เพราะการกระทำดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดความบาดหมางกันและจะนำไปสู่การเป็นศัตรูกับชายคู่หมั้นคนเดิม ท่านนบี (ศ็อลฯ) ได้กล่าวในการห้ามการหมั้นเช่นนี้ว่า

      “ จงอย่ามีคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกเจ้าหมั่นซ้อนการหมั้นของพี่น้องของเขา จนกว่าผู้หมั้นคนก่อนได้เลิกแล้วหรือเขาได้อนุญาต รายงานโดย บูคอรีย์ อะหมัดและอันนะซาอีย์

      จากหะดีษดังกล่าวสามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้

      1. การสู่ขอที่มีการตอบรับแล้วไม่อนุมัติให้ผู้อื่นทำการสู่ขอได้อีก

      2. การสู่ขอที่ถูกปฏิเสธแล้วหรือผู้สู่ขอได้ยุติการดำเนินการแล้ว หรืออนุญาตให้คนอื่นสู่ขอได้ถือว่าอนุมัติให้คนอื่นสู่ขอได้เพราะเมื่อคนก่อนถูกปฏิเสธแล้ว หรือยุติการดำเนินการแล้ว หรืออนุญาตให้คนอื่นสู่ขอได้ก็เหมือนกับยังไม่มีการหมั้น

      3. การสู่ขอที่ยังไม่มีการตอบรับและยังไม่มีการปฏิเสธ ตัวบทของหะดิษดังกล่าวดูเหมือนจะหมายถึงกรณีนี้ คือ ห้ามคนอื่นไปสู่ขออีกในช่วงที่ยังไม่มีการตอบรับและการปฏิเสธจนกว่าชายที่มาสู่ขอนั้นจะเลิกความตั้งใจของตน แต่ตามทัศนะของมัซฮับชาฟีอีย์และอีกสามมัซฮับถือว่าในกรณีหลังนี้ไม่ห้ามบุคคลอื่นไปสู่ขอแต่อย่างใด การห้ามบุคคลอื่นสู่ขอนั้นมีกรณีเดียวเท่านั้น คือกรณีที่ฝ่ายหญิงได้ตอบรับการสู่ขอแล้ว มีเฉพาะมัซฮับซอฮีรีย์เท่านั้น ที่มีความเห็นว่าในช่วงดังกล่าวนั้นห้ามมิให้ชายอื่นไปสู่ขอด้วย

      อย่างไรก็ตาม หากมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวด้วยการหมั้นสตรีที่มีคู่หมั้นแล้ว จากนั้นได้สมรสกัน การสมรสที่เป็นผลของการหมั้นในลักษณะดังกล่าวจะมีผลเป็นอย่างไรนั้นนักกฎหมายอิสลามมีทัศนะที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

      ก. มัซฮับซอฮีรีย์ เห็นว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะ โดยให้เหตุผลว่าการห้ามของหะดีษมีจุดมุ่งหมายไปที่การสมรส เนื่องจากการหมั้นนั้นเป็นการดำเนินการเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การสมรส ในเมื่อการหมั้นดำเนินไปด้วยวิธีที่ไม่ชอบตามกฎหมาย การสมรสก็จะไม่มีผลตามกฎหมายด้วย จึงจำเป็นต้องยกเลิกการสมรสและจะต้องแยกกันระหว่างทั้งสองไม่ว่าจะได้ร่วมประเวณีกันแล้วหรือยังมิได้ร่วมประเวณีก็ตาม

      ข. มัซฮับมาลิกีย์ ตามสายรายงานหนึ่งมีความเห็นว่าจะต้องยกเลิกการสมรสด้วยการหย่าร้างโดยไม่ต้องจ่ายเศาะดาก ทั้งนี้หากยังไม่ได้ร่วมประเวณีกัน แต่ถ้าหากได้ร่วมประเวณีกันแล้วก็ถือว่าการสมรสนั้นเป็นอันสมบูรณ์

      ค. นักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่ มีความเห็นว่าความไม่ชอบธรรมของการหมั้นจะไม่มีผลกระทบต่อการสมรสแต่อย่างใด เพราะการหมั้นที่หะดีษห้ามกระทำนั้นมิได้เป็นส่วนหนึ่งหรือเงื่อนไขของการสมรสแต่อย่างใด

      ดังนั้น ตามทัศนะของนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่จึงถือว่าการหมั้นซ้อนนั้นเป็นความผิดทางด้านจริยธรรมมิใช่ความผิดทางกฎหมาย จึงไม่มีผลกระทบทางด้านกฎหมายแต่อย่างใด 

      การยกเลิกสัญญาหมั้น

      การหมั้นเป็นการสัญญาว่าจะสมรสในอนาคต แต่ไม่ใช่สัญญาที่มีผลตามกฎหมายที่สามารถบังคับให้ปฏิบัติตามได้ ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงมีสิทธิที่จะบอกเลิกการหมั้นเมื่อไรก็ได้ โดยที่กฎหมายไม่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าในลักษณะใดก็ตาม แต่ในทางจริยธรรมถือว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่มุสลิมจะผิดสัญญาหมั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เพราะการผิดสัญญานั้นเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการเป็นมูนาฟิก (บุคคลหน้าไหว้หลังหลอก) ท่านนบี (ศ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ว่า

      “ ลักษณะของมุนาฟิกนั้นมี 3 ประการคือ เมื่อพูดเขาโกหก เมื่อสัญญาเขาผิดสัญญาและเมื่อได้รับการไว้วางใจเขาทรยศ รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม

      ดังนั้น การหมั้นจึงไม่เปลี่ยนสภาพของคู่หมั้นแต่อย่างใด โดยถือว่าทั้งสองยังมิได้เป็นสามีภรรยากัน ซึ่งต่างก็ไม่มีสิทธิเหนือกันและกันทั้งยังไม่อนุมัติให้ทั้งสองอยู่ด้วยกันสองต่อสองตามลำพังในที่ลับตาอีกด้วย

       การผิดสัญญาหมั้นและการเรียกค่าทดแทน

      การผิดสัญญาหมั้นโดยไม่ยอมสมรสแม้จะทำให้อีกฝ่ายต้องได้รับความเสียหาย แต่ก็ไม่อาจเรียกค่าทดแทนความเสียหายทั้งหมดได้ ทั้งนี้ จะต้องดูลักษณะของความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆ ไป สำหรับความเสียหายทางจิตใจนั้นไม่อาจเรียกร้องและเป็นราคาได้

      สำหรับความเสียหายทางกายและชื่อเสียงที่เกิดจากการกระทำที่ไม่อนุมัติตามหลักการของอิสลามในช่วงที่เป็นคู่หมั้น เช่น ทั้งสองได้ไปเที่ยวด้วยกัน ความเสียหายที่เกิดจากากรกระทำเช่นนี้ก็ไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายได้เช่นเดียวกัน

      สำหรับความเสียหายทางทรัพย์สินที่ฝ่ายผิดสัญญาหมั้นมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องได้เช่นกัน แต่ความเสียหายทางด้านทรัพย์สินที่เกิดโดยฝ่ายที่ผิดสัญญาหมั้นมีส่วนจูงใจให้อีกฝ่ายกระทำ เช่น ฝ่ายชายเรียกร้องให้ฝ่ายหญิงจัดเตรียมสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือให้ลาออกจากงานหรือฝ่ายหญิงเรียกร้องให้ฝ่ายชายจัดเตรียมบ้าน หลังจากที่ได้ดำเนินการแล้วก็ได้มีการบอกเลิกสัญญาหมั้น ซึ่งทำให้อีกฝ่ายต้องได้รับความเสียหาย เช่นนี้ควรได้รับการชดใช้โดยอาศัยหะดีษซึ่งเป็นหลักทั่วไปที่ว่า

      “ ไม่มีการกระทำที่ทำใด ๆ ให้ตัวเองต้องได้รับความเสียหาย และไม่มีการกระทําใดๆ  ที่ทำให้คนอื่นต้องได้รับความเสียหาย รายงานโดยอะหมัดและอิบนุมาญะฮฺ

      สำหรับของหมั้น ซึ่งโดยปกติฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายมอบให้แก่ฝ่ายหญิง แต่ในทางปฏิบัติของสังคมมุสลิมในประเทศไทยฝ่ายหญิงก็มอบของขวัญแก่ฝ่ายชายด้วยเป็นการตอบแทน ซึ่งหลักกฎหมายอิสลามฯ ให้ถือว่าเป็นของหมั้นด้วยนั้น ทั้งได้กำหนดไว้ว่าในเมื่อมีการเลิกสัญญาหมั้นแล้วให้ต่างฝ่ายคืนของหมั้นที่ได้รับให้แก่กัน

      หลักกฎหมายอิสลามมาตรา 26 บัญญัติไว้ว่า “ชายหญิงคู่หมั้นมิได้สมรสด้วยประการใด ๆ ก็ตามให้ต่างฝ่ายต่างคืนของหมั้นให้แก่กัน

      ซึ่งเป็นการบัญญัติตามทัศนะของมัซฮับชาฟีอีย์ แม้ว่าของหมั้นจะมีลักษณะคล้ายของขวัญทั่วไปซึ่งตามหลักการแล้วไม่อาจเรียกคืนได้ แต่การให้ของหมั้นจะต่างกับของขวัญทั่วไปตรงที่ว่าเป็นการให้ตามสภาพการณ์แล้วเป็นการให้โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการสมรส ดังนั้น เมื่อเงื่อนไขไม่เกิดขึ้นการให้จึงไม่สมบูรณ์ผู้ให้จึงสามารถเรียกคืนได้ หากยังอยู่ในสภาพเดิมหรือไม่ก็ชดใช้ค่าของหมั้นหากได้เปลี่ยนสภาพไปแล้ว

      ในเรื่องนี้นักกฎหมายอิสลามมีหลายทัศนะด้วยกัน แต่ทัศนะหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ทัศนะของนักกฎหมายมัซฮับมาลิกีย์ที่มีความเห็นว่า

      1. หากฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้นโดยไม่มีเหตุผลที่ฟังได้ เขาไม่มีสิทธิเรียกของหมั้นคืนได้ แต่หากฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายชายสามารถเรียกคืนของหมั้นได้หากยังคงสภาพเดิมอยู่ และเรียกคืนโดยกำหนดราคาหากของหมั้นนั้นหมดสภาพไปแล้ว

      2. หากมีเงื่อนไขหรือประเพณีที่ถือปฏิบัติเป็นอย่างอื่นก็ให้ถือปฏิบัติตามนั้น

      ทัศนะของมัซฮับมาลีกีย์ในเรื่องนี้บางส่วนมีความคล้ายคลึงกับทัศนะของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 มาตรา 1439 ซึ่งบัญญัติว่า

      “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

       

       

       

      องค์ประกอบของการสมรส

      การสมรสมีองค์ประกอบ 4 ประการดังต่อไปนี้ คือ

      (1) ศีเฆาะฮฺ

      (2) ผู้ทำสัญญา

      (3) ชายหญิงคู่สมรส

      (4) พยาน

      ซึ่งแต่ละองค์ประกอบมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

      1.ศีเฆาะฮ.

      ศีเฆาะฮ. คือสำนวนที่ใช่ในการทำสัญญาสมรส ซึ่งประกอบด้วยอีญาบและเกาะบูล

      .อีญาบ คือ คำเสนอทำสัญญาสมรสที่ลั่นวาจาโดยวะลีย์ ซึ่งทำหน้าที่แทนหญิงคู่สมรส ทั้งนี้เพราะกฏหมายอิสลามไม่อนุญาติให้สตรีทำการสมรสตัวเองหรือคนอื่นๆได้ แต่จะต้องทำเป็นตัวแทนซึ่งเป็นวะลีย์(ผู้ปกครอง) ของตน

      ท่านนบี(ศ็อลฯ) ได้กำหนดบทบัญญัติในเรื่องนี้ว่า

      สตรีไม่สามารถจัดการสมรสให้แก่สตรีอื่นได้ และสตรีไม่สามารถจัดการสมรสตัวเองได้”รายงานโดย อิบนูมาญะฮ.และอัดดาเราะกุฏนีย์

      หลักกฎหมายอิสลามฯ มาตรา 24 บัญญัติว่า

      ภายใต้บทบัญญัติแห่งมาตร 38(1) ห้ามมิให้หญิงประกอบพิธีสมรสตนเองหรือบุคคลอื่นโดยลำพัง แม้วาลีจะยินยอมก็ตาม ให้ประกอบพิธีสมรสโดยทางวาลีเท่านั้น”

      . เกาะบูล หมายถึง คำสนองนั้น โดยหลักการชายผู้เป็นคู่สัญญาจะต้องกล่าวสนองรับด้วยตนเอง  หรืออาจตั้งชายอื่นกล่าวสนองรับแทนตนก็ได้ แต่ในกรณีชายคู่สัญญาเป็นผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถ ก็ให้ วะลีย์เป็นผู้สนองรับแทน

      หลักกฎหมายอิสลามฯ มาตรา 24 วรรค2 กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

      สำหรับชายมีสิทธิประกอบสมรสด้วยตนเอง หรือแต่งตั้งชายอื่นทำหน้าที่แทนตนได้ จะต้องมีวาลีต่อเมื่อยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือบรรลุนิติภาวะแล้วแต่วิกลจริต”

      อนึ่ง สำหรับคนใบ้ก็สามารถจัดการสมรสได้โดยใช่สัญญาณที่เป็นที่เข้าใจโดยคนทั่วไป เพราะสัญญาณที่มีลักษณะเช่นนี้มีฐานะเหมือนกับศีเฆาะฮ.ที่ชัดเจน แต่หากเป็นสัญญานที่เข้าใจโดยบางคนที่มีความเฉลี่ยวฉลาดเท่านั้นก็ถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะมีฐานะเหมือนกับศีเฆาะฮ.ที่ไม่ชัดเจน ในกรณีที่คนใบ้ไม่สามารถใช่สัญญานที่เข้าใจโดยคนทั่วไปหากสามารถเขียนหนังสือได้ก็ให้มอบหมายให้ผู้อื่นจัดการสมรสแทนได้ ทั้งในกรณีที่ป็น  วะลีย์หรือชายคู่สมรส

      อย่างไรก็ตาม หากคนใบ้ไม่สามารถใช้สัญญาณที่เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไป ทั้งไม่สามารถเขียนหนังสือได้ก็ควรผ่อนปรนให้เขาใช้สัญญานที่เป็นที่เข้าใจของคนบางคนที่เฉลี่ยวฉลาดได้ โดยให้บุคคลดังกล่าวเป็นพยานในการสมรส

      เพื่อให้อีญาบและเกาะบูลมีความสมบูรณ์ตามกฏหมายอิสลามจะต้องดำเนินภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

      1. อีญาบและเกาะบูลจะต้องต่อเนื่องกันโดยไม่มีการแทรกสิ่งอื่นระหว่างอีญาบและเกาะบูล นอกจากนั้น ทั้งอีญาบและเกาะบูลจะต้องทำขึ้นในวาระเดียวกัน โดยไม่ขาดช่วงระหว่างกันเป็นเวลานาน

      2. เกาะบูลจะต้องมีเนื้อหาสอดค้องกับอีญาบทุกประการ

      3. คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องได้ยินคำอีญาบและเกาะบูลของอีกฝ่ายพร้อมทั้งเข้าใจว่าเป็นการเสนอและสนองการทำสัญญาสมรส

      4. อีญาบจะต้องใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนที่เสนอถึงการสมรส เช่น ฉันสมรสน้องสาวของฉันชื่อมุนาให้แก่คุณ” เป็นต้น

      เรื่องการใช้คำในการเสนอโดยเจาะจงเฉพาะคำ สมรส หรือ คำแต่งงาน เท่านั้นเป็นทัศนะของมัซฮับซาฟีอีย์และมัซฮับฮัมบะลีย์  โดยมีความเห็นว่าไม่อาจใช่คำอื่นแทนได้แม้จะเป็นที่เข้าใจโดยสภาพแวดกล้อมว่าเป็นการสมรสก็ตาม เช่น กล่าวในการเสนอว่า ฉันอนุมัติลูกสาวของฉันให้แก่คุณ

      อิบนุตัยมียะฮ. มีความเห็นว่าคำอะไรก็ตามที่ประเพณีถือว่าเป็นการสมรสถือว่าใช้ได้หรืออาจใช้คำที่มีความหมายเป็นอย่างอื่น เช่นคำ ยกให้ โดยมีสภาพแวดล้อมแสดงว่าเป็นการสมรสก็ถือว่าใช้ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นทัศนะของมัซฮับหะนะฟีย์ มาลิกีย์และซอฮิรีย์ โดยมัซฮับมาลิกีย์กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องระบุถึงเศาะดากและคำที่ใช้จะต้องเป็นสัญญาที่มีผลอย่างถาวร

      5. ศีเฆาะฮ.จะต้องมีลักษณะมีผลบังคับทันที ดังนั้นหากข้อความในสัญญามีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา ซึ่งทำให้สัญญาไม่มีผลบังคับโดยทันที เช่น ฉันสมรสลูกสาวของฉันให้แก่คุณเมื่อคุณได้รับปริญญา หรือฉันสมรสลูกสาวของฉันให้แก่คุณในเดือนหน้า การสมรสนั้นเป็นโมฆะไม่มีผลตามกฎหมาย

      6.  ศีเฆาะฮ.จะต้องมีลักษณะเป็นการสมรสอย่างถาวรโดยไม่มีกำหนดเวลาการสิ้นสุดของการสมรส ดังนั้น หากมีการกำหนดระยะเวลาการเป็นสามีภรรยา อย่างเช่นกำหนดไว้หนึ่งเดือนหรือหนึ่งปีถือว่าเป็นการสมรสที่เป็นโมฆะ

      อนึ่งก่อนที่จะดำเนินการอีญาบและเกาะบูลสมควรอ่านคุฏบะฮ.สมรสด้วย  

      2. ผู้ทำสัญญา

      ผู้ทำสัญญาสมรสประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ

      .ชายคู่สมรส ชายที่จะทำสัญญาสมรสให้ตัวเองได้ จะต้องเป็นผู้มีความสามารถในการใช้สิทธิอย่างสมบูรณ์หรืออาจมอบหมายให้ชายอื่นทำการแทนตนก็ได้ ในกรณีที่ชายยังไม่มีความสามารถใช้สิทธิอย่างสมบูรณ์หรือเป็นบุคคลไร้ความสามารถก็ให้วะลีย์ของตนเป็นผู้ทำการสมรสแทน

      ข. วะลีย์ของฝ่ายหญิง หลักกฎหมายอิสลามฯ มาตรา 29 ได้ให้ความหมายของวะลีย์ว่า

      วาลี คือ ชายผู้ทรงสิทธิประกอบพิธีสมรสให้หญิง หรือชายในกรณีที่ชายยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือวิกลจริต สิทธินั้นเป็นเอกสิทธิของวาลี บังคับวาลีมิได้

      สตรีคู่สมรสนั้นไม่อาจที่จะทำการสมรสตัวเองได้ ผู้ที่ทำหน้าที่แทนตนคือวะลีย์หรือผู้ปกครอง ซึ่งในการสมรสทุกครั้งของสตรีจะต้องมีวะลีย์เสมอ แม้สตรีที่จะทำการสมรสนั้นมีความสามารถสูง มีการศึกษาดีและมีอายุมากเพียงใดก็ตาม ดังนั้นการสมรสในทุกกรณีจะปลอดจากวะลีย์ไม่ได้อย่างเด็ดขาด

      ท่านนบี ศ็อลฯ) กล่าวว่า

      “ไม่มีการสมรสเว้นแต่ที่ดำเนินการโดยวะลีย์ รายงานโดย นักรายงานทั้งห้ายกเว้นอันนะซาอีย์และอะหมัด ถือว่าเป็นหะดีษเศาะฮีฮฺ  

      ความเห็นดังกล่าวนี้เป็นทัศนะของนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่ เพราะมีหลักฐานทั้งจากอัลกุรอานและหะดีษมากมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้

      อัลลอฮฺตรัสว่า

      และพวกเจ้าจงจัดการสมรสบรรดาหญิงหม้ายในหมู่พวกเจ้าอันนูร : 32

      อายะฮฺนี้ มีลักษณะเป็นการสั่งบรรดาผู้ชายที่เป็นวะลีย์ให้จัดการสมรสหญิงหม้ายที่ตนเองเป็นวะลีย์  ซึ่งมีความหมายเท่ากับว่าผู้หญิงจัดการสมรสตัวเองไม่ได้

      สําหรับหลักฐานจากหะดีษนั้น ทั้งสองหะดีษที่กล่าวมาแล้วแสดงให้เห็นว่าการสมรสจะปราศจาก    วะลีย์ไม่ได้อย่างเด็ดขาด

      สำหรับมัซฮับหะนะฟีย์ มีความเห็นว่าสตรีที่มีความสามารถในการใช้สิทธิอย่างสมบูรณ์สามารถทำการสมรสตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีวะลีย์ โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

      1.ท่านนบี (ศ็อลฯ) กล่าวว่า

      “หญิงหม้ายมีสิทธิในตัวของนางเองยิ่งกว่าวะลีย์ของนางรายงานโดย อบูดาวูด

      2. การสมรสเป็นการใช้สิทธิส่วนตัว ในเมื่อเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการใช้สิทธิก็สามารถ ดำเนินการทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ เองได้ การสมรสเป็นการทำนิติกรรมสัญญาอย่างหนึ่ง ดังนั้น ทุกคน ที่มีความสามารถในการใช้สิทธิสามารถดำเนินการเองได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ได้รับความเห็นชอบจากวะลีย์แล้ว

      ประเภทของวะลีย์

      วะลีย์แบ่งออกเป็นหลายประเภท แต่ในที่นี้จะแบ่งตามลักษณะความเกี่ยวข้องกับสตรีผู้อยู่ในความปกครอง ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภทดังนี้

      .วะลีย์คอศ

      วะลีย์คอศ หมายถึง วะลีย์เฉพาะของสตรีแต่ละคน ซึ่งเป็นผู้ชายที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต

      หลักกฎหมายอิสลามฯ มาตรา 30 ได้กำหนดความหมายของวะลีย์คอศว่า

      “คือ ชายที่เป็นญาติของหญิงผู้มีสิทธิเป็นวะลีย์ได้

      ญาติผู้มีสิทธิเป็นวะลีย์คอศนั้นมีลำดับดังต่อไปนี้

      1. บิดา

      2. ปู่และผู้สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป

      3. พี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน

      4. พี่ชายหรือน้องชายร่วมแต่บิดา

      5. บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชายที่ร่วมบิดามารดาเดียวกัน

      6. บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชายที่ร่วมแต่บิดา

      7. บุตรชายของวะลีย์ลำดับ 5 และลำดับ 6 สลับกันไปจนขาดสาย

      8. พี่ชาย น้องชายของบิดาที่ร่วมบิดามารดาเดียวกัน

      9. พี่ชาย น้องชายของบิดาที่ร่วมแต่บิดา

      วะลีย์คอศยังแบ่งเป็น 2 ประเภท คือวะลีย์อักร็อบ คือญาติที่สนิทที่สุดที่มีสิทธิเป็นวะลีย์ขณะจัดการสมรสเพียงลำดับเดียวเท่านั้น และวะลีย์อับอัด คือญาติที่มีสิทธิเป็นวะลีย์ที่อยู่ในลำดับถัดไปจากวะลีย์อักร็อบ ซึ่งไม่มีสิทธิ์เป็นวะลีย์ในการจัดการสมรสจนกว่าวะลีย์อักร็อบจะตายหรือขาดคุณสมบัติ

      คุณสมบัติของวะลีย์คอศ

      ผู้ที่จะเป็นวะลีย์คอศได้นั้นต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดจึงจะเป็นวะลีย์ได้ หลักกฎหมายอิสลามฯ มาตรา 38 กำหนดคุณสมบัติของวะลีย์คอศดังนี้

      1. เป็นชายและไม่เป็นทาส

      2. เป็นมุสลิม

      3. มีสติปัญญาเยี่ยงสามัญชน

      4. ไม่เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

      5. ไม่เป็นฟาสิก

      ในกรณีที่วะลีย์อักร๊อบที่อยู่ในลำดับที่สนิทที่สุดของสตรีขาดคุณสมบัติข้อใดก็ตาม สิทธิในการเป็นวะลีย์ก็จะตกเป็นของวะลีย์ที่อยู่ในลำดับถัดไปทันที เพราะการขาดคุณสมบัตินั้นถือว่าเหมือนกับไม่มีวะลีย์คนนั้น ดังนั้นผู้มีสิทธิเป็นวะลีย์ในการสมรสคือวะลีย์ที่อยู่ในลำดับถัดไป

      แต่หากวะลีย์อักร็อบไม่อยู่ในพื้นที่ในขณะที่จะทำการสมรส สิทธิในการเป็นวะลีย์จะไม่เป็นของวะลีย์ที่อยู่ในลำดับถัดไปแต่จะเป็นของวะลีย์อาม การที่จะถือว่าวะลีย์อักร๊อบไม่อยู่นั้นจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีรัศมีเกินสองมัรหะละฮหรือประมาณ 96 กิโลเมตรจากสถานที่จัดการสมรส

      หากวะลีย์อักร๊อบมีหลายคน ควรให้คนที่มีความรู้เกี่ยวกับศาสนามากที่สุดและผู้ที่มีวัยวุฒิสูงสุดเป็นวะลีย์ตามลำดับทั้งนี้โดยความยินยอมของวะลีย์ทั้งหมดที่เหลือ หากขัดแย้งกันก็ให้จับฉลากกัน

      ในกรณีที่หญิงมีวะลีย์ในลำดับเดียวกันหลายคนและชายคู่สมรสของหญิงมีฐานะต่ำกว่าหญิง หากการสมรสกระทำโดยวะลีย์คนใดคนหนึ่งด้วยการยินยอมของสตรีเองและบรรดาวะลีย์ทั้งหลาย การสมรสนั้นถือว่าถูกต้องและสมบูรณ์ แต่หากกระทําโดยวะลีย์คนใดคนหนึ่งโดยบรรดาวะลีย์ที่เหลือมิยินยอมการสมรสนั้นถือว่าเป็นโมฆะ แต่มีทัศนะหนึ่งเห็นว่าการสมรสนั้นมีผลเป็นโมฆยะ โดยวะลีย์ที่เหลือมีสิทธิที่จะให้ความเห็นชอบและมีสิทธิที่จะบอกเลิกการสมรสดังกล่าวนั้นได้

      ข. วะลีย์อามหรือวะลีย์ฮากิม 

      วะลีย์อาม คือ วะลีย์ทั่วไปสำหรับสตรีที่ไม่มีวะลีย์คอศหรือหรือวะลีย์คอศไม่อยู่หรือวะลีย์คอศปฏิเสธไม่ยอมจัดการสมรสให้ ผู้ที่เป็นวะลีย์อามคือผู้ที่มีอำนาจปกครองประเทศ รัฐ หรือหัวเมือง หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว วะลีย์อามมีอำนาจเป็นวะลีย์สมรสบุคคลที่อยู่ในเขตพื้นที่ปกครองของตนเท่านั้น

      สำหรับวะลีย์ฮากิมนั้น คือ การเป็นวะลีย์ของบุคคลผู้มีอำนาจปกครองประเทศโดยตำแหน่งซึ่งเป็นวะลีย์สำหรับสตรีที่ไม่มีวะลียคอศหรือวะลีย์คอศไม่อยู่ หรือวะลีย์คอศปฏิเสธไม่ยอมจัดการสมรสให้ เช่นเดียวกับวะลีย์อาม

      ดังนั้นวะลีย์ฮากิมและวะลีย์อาม คือบุคคลคนเดียวกันเพียงแต่วะลีย์ฮากิมนั้นคือผู้มีอำนาจปกครองประเทศและเป็นวะลีโดยตำแหน่ง สำหรับวะลีย์อามนั้นครอบคลุมทั้งผู้กระทำโดยตำแหน่งหรือได้รับมอบหมายจากบุคคลผู้มีอำนาจ

      รายงานโดยท่านอาอิชะฮฺ (รอฎิยัลลอฮุอันฮา) ท่านนบีได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

      “ สตรีใดก็ตามที่สมรสโดยมิได้รับอนุญาตจากวะลีย์ของตน การสมรสของนางเป็นโมฆะ การสมรสของนางเป็นโมฆะ การสมรสของนางเป็นโมฆะ หากได้มีการร่วมหลับนอนกับนาง นางก็มีสิทธิในมะฺฮัรจากการที่เขาถือว่าอวัยวะเพศของนางเป็นที่อนุมัติ หากพวกเขาขัดแย้งกันสุลต่านคือวะลีย์สําหรับสตรีที่ไม่มีวะลีย์ " รายงานโดยผู้รายงานทั้งห้ายกเว้นอันนะซาอีย์

      หลักกฎหมายอิสลามฯ ได้บัญญัติเรื่องที่เกี่ยวกับวะลีย์ฮากิมและวะลีย์อามในสองมาตรา คือ มาตรา 35 และมาตรา 36

      มาตรา 35 ได้บัญญัติว่า

      “วะลีย์ฮากิม คือผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ หรือจากผู้รับสนองพระบรมราชโองการให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งฮากิมที่มีสิทธิเป็นวาลีประกอบพิธีสมรสให้หญิงผู้บรรลุนิติภาวะแล้วได้ทั่วไป

      และมาตรา 36 ได้บัญญัติว่า

      “วาลีอาม คือวาลีผู้ทรงสิทธิประกอบพิธีสมรสให้หญิงผู้บรรลุนิติภาวะแล้วได้ทั่วไป ซึ่งได้แก่ องค์พระมหากษัตริย์เอง หรือวาลีฮากิมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 ถึง 47

      มาตราทั้งสองนี้อาจทำให้เกิดความสับสนได้ จึงขอยืนยันอีกครั้งว่าวะลีย์ฮากิมและวะลีย์อามนั้นเป็นบุคคลเดียวกัน ทั้งนี้เพราะฮากิมนั้นคือสุลต่านตามที่หะดีษได้ระบุไว้และสุลต่านหรือฮากิมคือผู้มีอำนาจปกครองประเทศและผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปกครองรัฐหรือหัวเมืองจากผู้มีอำนาจดังกล่าวก็มีสิทธิเป็นวะลีย์อามด้วย

      การทําหน้าที่สมรสของวะลีย์อามและวะลีย์ฮากิม

      วะลีย์อามหรือวะลีย์ฮากิมจะทำหน้าที่เป็นวะลีย์ในการสมรสในกรณีดังต่อไปนี้

      1. ในกรณีที่หญิงไม่มีวะลีย์คอศเลย

      2. ในกรณีที่วะลีย์คอศของหญิงปฏิเสธไม่ยอมจัดการสมรสให้ ในกรณีนี้วะลีย์อามมีอำนาจทำการสมรสได้หากชายที่หญิงต้องการสมรสนั้นมีฐานะเท่าเทียมกับหญิง และการปฏิเสธของวะลีย์คอศนั้นจะต้องเป็นที่ประจักษ์แก่วะลีย์อามโดยการเรียกตัววะลีย์คอศมาสอบถามและสั่งการให้จัดการสมรส หากเขาปฏิเสธหรือทำตัวเฉยวะลีย์อามที่มีสิทธิจัดการสมรสได้

      3. ในกรณีที่วะลีย์คอศอยู่ห่างไกลเกินรัศมี 96 กิโลเมตรและมิได้ตั้งตัวแทนไว้

      4. ในกรณีที่หญิงจะสมรสกับวะลีย์คอศเอง

      5. ในกรณีที่วะลีย์คอศถูกกักขังตัว จนไม่สามารถเป็นวะลีย์เองหรือแต่งตั้งตัวแทนได้ 

      6. วะลีย์คอศหลบหลีกไม่ยอมเป็นวะลีย์ตามคำขอของหญิงหรือไม่ยอมรับการเรียกตัวของวะลีย์ 

      7. วะลีย์คอศสละสิทธิในการเป็นวะลีย์

      8. วะลีย์คอศหมดสติเพราะเป็นลมหรือเพราะสาเหตุอย่างอื่นเกินสามวัน

      9. วะลีคอศหายสาบสูญ

      อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ 2-8 หากหญิงมีวะลีย์คอศที่อยู่ในลำดับเดียวกันหลายคน สิทธิในการสมรสก็ยังเป็นของวะลีคอศคนอื่น ๆ ที่ยังมีคุณสมบัติอยู่

      ในการสมรสของวะลีย์อามหรือวะลีฮากิมนั้นชายจะต้องมีฐานะเท่าเทียมกับหญิง หากชายมีฐานะต่ำกว่าการสมรสของวะลีย์ฮากิมถือว่าเป็นโมฆะตามทัศนะที่ถือว่าถูกต้องที่สุด ของมัซฮับชาฟีอีย์ ยกเว้นในกรณีที่ทำไปเพื่อป้องกันหญิงมิให้ละเมิดบทบัญญัติทางเพศโดยการผิดประเวณี (มาตรา 44 วรรค 2)

      แนวปฏิบัติในการจัดการสมรสของวะลีย์อาม

      การจัดการสมรสของวะลีย์อามในกรณีที่วะลีย์คอศปฏิเสธไม่ยอมสมรสจะต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายอิสลามฯ มาตรา 45 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า

      “ ในกรณีที่วาลีอามประกอบพิธีสมรสให้หญิงตามมาตรา 44

      1. ถ้าเป็นกรณีที่วาลีอามสามารถทราบข้อเท็จจริงจากวาลีอิกรับของหญิง ให้วาลีอามเรียกตัววาลีอิกรับนั้นมาเป็นวาลีโดยกำหนดวันเวลาที่จะประกอบพิธีสมรสโดยชัดแจ้งตามบทบัญญัติดังต่อไปนี้ เว้นแต่ภายหลังที่หญิงร้องขอแล้ววาลีอามทราบข้อเท็จจริงด้วยตนเองหรือโดยคำเล่าลืออันประกอบด้วยเหตุผลอันควรฟังได้

      ก. จะเรียกโดยเอกสารหรือบุคคลที่ได้

      ข. การเรียกโดยเอกสารหรือบุคคลต้องถึงตัววาลีนั้นเองภายในบทบัญญัติแห่งมาตรา 44 (2)จ.

      ค. ห้ามมิให้เรียกเกิน 2 ครั้งถ้าเรียกเป็น 2 ครั้งสิทธิของวาลีอามที่จะประกอบพิธีสมรสให้หญิงนั้นสิ้นสุดลง หน้าที่วาลีตกแก่วาลีได้แก่วาลีอับอัดของหญิงนั้น

      2. ถ้าเป็นกรณีที่วาลีอามมิสามารถทราบข้อเท็จจริงได้จากวาลีอิกร๊อบนั้นให้วาลีอามฟังข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลซึ่งเป็นชายมีจำนวนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือจากพยานเอกสารเว้นแต่วาลีอามทราบข้อเท็จจริงด้วยตนเองหรือโดยคำเล่าลืออันประกอบด้วยเหตุผลอันควรฟังได้ มิเลือกว่าจะทราบก่อนหรือภายหลังที่หญิงร้องขอแล้ว "

      หลักกฎหมายอิสลามฯ ในมาตรา 45 นี้ให้นำมาใช้ในกรณีที่หญิงร้องขอให้วะลีย์อามประกอบพิธีสมรสตามมาตรา 44(2) ข้อต่อไปนี้เท่านั้น คือ ในกรณีที่วะลีย์คอศ

      จ. หลบหลีกเพื่อมิประกอบพิธีสมรส หรือเพื่อมิยินยอมรับการเรียกของวาลีอาม

      ฉ. ขัดขืนมิยอมประกอบพิธีสมรส

      ช. สละสิทธิในการประกอบพิธีสมรส

      ในกรณีอื่นๆ นอกเหนือจากกรณีการปฏิเสธของวะลีย์คอศตามที่กล่าวมานี้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรานี้แต่อย่างใด

      ตัวอย่างเช่น ในกรณีตามมาตรา 44(1) คือ หญิงบรรลุนิติภาวะแล้วและไม่มีวะลีย์คอศตามมาตรา 43 หรือตามมาตรา 44(2) ข้อ ก ข ค ง ช ญ วะลีย์อามสามารถดำเนินการสมรสได้เลย

      ค. วะลีย์ตะหฺกีม

      หลักกฎหมายอิสลามฯ มาตรา 37 ได้ให้ความหมายวะลีย์ตะหฺกิมว่า

      “ คือ ผู้ที่ชายหญิงผู้ที่จะสมรสอันเชิญขึ้นเป็นวาลี ”

      อีกนัยหนึ่งวะลีย์ตะหกีม คือ บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากชายหญิงคู่สมรสให้ทำหน้าที่เป็นวะลีย์เฉพาะกรณีในการสมรสของทั้งสอง

      สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่อาจได้รับการแต่งตั้งเป็นวะลีย์ตะหกีมนั้น  หลักกฎหมายอิสลามฯ มาตรา 37(2) ได้บัญญัติไว้ว่าต้องเป็นผู้ที่

      ก. ประกอบด้วยคุณสมบัติตามมาตรา 38 (คุณสมบัติของวะลีย์) และ 58 (คุณสมบัติของพยาน)โดยอนุโลม และ

       

      ข. ประชาชนยกย่องว่าดำรงอยู่ในความยุติธรรม เว้นแต่ในเขตปริมณฑล 96 กิโลเมตรแห่งสถานที่ที่ประกอบพิธีสมรสนั้นหาบุคคลที่ได้รับความยกย่องเช่นว่านั้นมิได้ ผู้เป็นอาดิลจะรับอัญเชิญเป็นวาลีก็ได้

      คุณสมบัติข้อ ข กำหนดให้ผู้ที่จะเป็นวะลีย์ตะหฺกีมได้นั้นต้องเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนว่าดำรงอยู่ในความยุติธรรมนั้น ตามความเข้าใจของผู้เขียนคือบุคคลที่เคร่งครัดในหลักการของศาสนาซึ่งเป็นการตีความคำว่าอัดล. ที่ค่อนข้างผิดเพี้ยน ทั้งนี้เพราะผู้เขียนก็ได้พยายามค้นหาทัศนะของนักกฎหมายอิสลามที่กำหนดคุณสมบัติตามที่หลักกฎหมายอิสลามฯ กำหนดไว้แต่ยังไม่อาจพบได้

       นักกฎหมายอิสลามมัซฮับชาฟีอีย์มีทัศนะที่แตกต่างกันในการกำหนดคุณสมบัติของผู้จะเป็นวะลีย์ตะหกีมได้ ดังนี้

      ทัศนะแรกเห็นว่าจะต้องเป็นมุจญ์ตะฮิด คือ เป็นบุคคลที่มีความสามารถในการกำหนดบทบัญญัติทางกฎหมายอิสลามโดยการวิเคราะห์วินิจฉัยของตนเองได้อย่างอิสระ

      ทัศนะที่สองเห็นว่าจะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้พิพากษาได้และทัศนะที่สามซึ่งเป็นทัศนะที่อิมามนะวาวีย์ เลือกใช้ คือทัศนะที่เห็นว่าต้องมีคุณสมบัติเป็นอัดล.ก็เพียงพอแล้ว

      การสมรสโดยวะลีย์ตะหฺกีมสามารถกระทําได้ในกรณีที่ไม่มีวะลีย์คอศและวะลีย์อามหรือมีวะลีย์อาม แต่ไม่สามารถดำเนินการสมรสได้เช่นอยู่ในระหว่างการเดินทาง เป็นต้น

      ง. วะลีย์มุจญ์บิร

      วะลีย์มุจญ์บิร เป็นส่วนหนึ่งของวะลีย์คอศ วะลีย์มุจญ์บิร หมายถึงวะลีย์คอศผู้มีอำนาจบังคับหญิงที่อยู่ใต้การปกครองในการสมรส ผู้ที่เป็นวะลีย์มุจญ์บิรนั้น ได้แก่ บิดาหรือในกรณีที่ไม่มีบิดา

      หลักกฎหมายอิสลามฯ มาตรา 41 ได้บัญญัติว่า

      “ วะลีย์มุจเบร มีสิทธิประกอบพิธีสมรสได้ตามบทบัญญัติดังต่อไปนี้

      1. บังคับบุตรีหรือหญิงผู้สืบสันดานสายชาย ซึ่งยังเป็นพรหมจารีให้สมรสได้ เมื่อชาย

      ก. มีสถานะแห่งอาชีพไม่ต่ำกว่าหญิงการสมรส

      ข. มีศีลธรรมไม่ต่ำกว่าหญิง

      ค. สามารถชำระอีซีกาห์เว็น ซึ่งเป็นเงินตราที่ใช้อยู่ในประเทศที่ประกอบพิธีสมรสโดยจำนวนอันควรแก่ฐานะของหญิง เมื่อฝ่ายหญิงเรียกร้องได้ทันที

      ง. ไม่วิกลจริตไม่เป็นโรค และไม่มีอวัยวะสืบพันธุ์พิการตามมาตรา 111(1) (2) และ (3)

      จ. ไม่เป็นศัตรูต่อหญิงและวะลีย์มุจเบรของหญิง รวมทั้งวะลีย์มุจเบรของหญิงต้องไม่เป็นศัตรูต่อหญิงนั้นด้วย

      ฉ. มีฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดไม่ต่ำกว่าหญิง

      ตามบทบัญญัติแห่งมาตรานี้และตามทัศนะของมัซฮับชาฟีอีย์ ผู้เป็นบิดาหรือปู่มีอำนาจบังคับจัดการสมรสบุตรสาวหรือหลานสาวของตนเองแล้วแต่กรณีได้ ทั้งนี้ ถ้าหากบุตรสาวหรือหลานสาวที่ว่านั้นยังเป็นสาวโสดอยู่ไม่ว่าจะบรรลุนิติภาวะแล้วหรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ หากชายคู่สมรสมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้  

      1) ชายมีฐานะไม่ต่ำกว่าหญิงทั้งในด้านศีลธรรมและด้านอาชีพ

      2) ชายสามารถจ่ายเศาะดากใกล้เคียงให้แก่หญิงในวันทำสัญญาสมรส

      3) ไม่มีสาเหตุที่เป็นอุปสรรคอย่างร้ายแรงในการใช้ชีวิตร่วมกัน เช่น ชายเป็นคนตาบอดหรือมีความชราภาพ 

                          4) ชายไม่ได้เป็นศัตรูกับหญิงรวมทั้งวะลีย์มุจญ์บิรก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับหญิงด้วย

      เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิของสตรี ผู้เขียนจึงขออธิบายแยกเป็น 2 ประเด็นคือ ประเด็นที่หญิงผู้ถูกบังคับให้สมรสบรรลุนิติภาวะแล้วกับประเด็นที่หญิงผู้ที่ถูกบังคับให้สมรสยังไม่บรรลุนิติภาวะ

       อำนาจของวะลีย์มุจญ์บิรในการสมรสหญิงที่บรรลุนิติภาวะแล้ว

      ตามกฎหมายอิสลามหญิงโสดที่บรรลุนิติภาวะแล้วถือว่ามีความสามารถที่จะทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ได้ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์ ทั้งยังมีความอิสระเต็มที่ที่จะทำนิติกรรมสัญญาแต่ละอย่างโดยไม่มีใครมีอำนาจบังคับให้ทำหรือไม่ให้ทำสิ่งใดๆ ได้ ยกเว้นการสมรสเท่านั้นที่จะทำเองไม่ได้ต้องอาศัยวะลีย์ แต่การให้วะลีย์ที่เป็นบิดาหรือมีอำนาจบังคับหรือสมรสโดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบนั้นรู้สึกว่าจะขัดกับหลักการที่กล่าวมา แต่กลุ่มนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่มีความเห็นว่าวะลีย์ที่เป็นบิดาหรือมีอำนาจบังคับบุตรสาวหรือหลานสาวของตนเองสมรสได้ โดยมีหลักฐานสนับสนุนทัศนะจากหะดีษและเหตุผลทั่วๆไปดังต่อไปนี้

      สําหรับหลักฐานจากหะดีษคือท่านนบี (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า 

      “ หญิงหม้ายมีสิทธิในตัวของนางเองยิ่งกว่าวะลีย์ของนางและหญิงโสดนั้นให้ขออนุญาตจากนาง และการอนุญาตของนางคือการนิ่งเฉยของนางรายงานโดย ญะมาอะฮยกเว้นบุคอรีย์

      หะดีษนี้ได้แบ่งสตรีเป็น 2 ประเภท คือ หญิงหม้ายและหญิงโสด สำหรับหญิงหม้ายนั้นวะลีย์ไม่มีอำนาจบังคับ ดังนั้น ความหมายตรงกันข้ามของหะดีษนี้คือ หญิงโสดนั้นวะลีย์มีอำนาจบังคับในการ สมรสได้เพราะหากหญิงโสดวะลีย์ไม่มีอำนาจบังคับเช่นเดียวกับหญิงหม้ายก็ไม่มีประโยชน์อะไรในการแบ่งสตรีเป็น 2 ประเภทดังกล่าว ดังนั้นเมื่อหะดีษได้แบ่งสตรีออกเป็นประเภทแน่นอนบทบัญญัติเกี่ยวกับสตรีทั้งสองประเภทจะต้องมีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งเป็นความหมายตรงกันข้ามที่เข้าใจจากหะดิษบทนี้ แต่อย่างไรก็ตามวะลีย์ที่มีอำนาจบังคับสมรสนั้นมีเฉพาะบิดาและปู่เท่านั้น

      สำหรับหลักฐานจากเหตุผลทั่วไปนั้น คือ การให้สิทธิในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเหตุผลทางสติปัญญา ทั้งนี้เพราะผู้เป็นบิดาย่อมรักลูกและหวังที่จะให้ลูกมีความสุขมีความมั่นคงและประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นการจัดการสมรสของบิดาคงตั้งบนพื้นฐานของความหวังดีและประโยชน์ที่จะเกิดแก่ลูกในอนาคต โดยไม่อาจตั้งข้อสงสัยได้เลยว่าบิดากระทำการเพื่อต้องการให้วิถีชีวิตของลูกสาวต้องตกต่ำลง ดังนั้นจึงสมควรให้อำนาจดังกล่าวนี้แก่บิดาซึ่งเป็นทัศนะของมัซฮับชาฟีอีย์และมาลิกีย์

      ความจริงแล้วตัวบทของหะดีษดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการสมรสของหญิงโสดนั้นจะต้องขอความยินยอมจากนางเช่นกัน ซึ่งเป็นความหมายตามตัวอักษรของประโยคหลังของหะดีษและที่เข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมนั้นเป็นเพียงความหมายตรงข้ามจากประโยคแรกของหะดีษ เมื่อความหมายตามตัวอักษรของประโยคหนึ่งขัดกับความหมายตรงกันข้ามอีกประโยคหนึ่ง ตามหลักการแล้วความหมายตามตัวอักษรนั้นมีน้ำหนักมากกว่า

      นอกจากนั้น ยังมีหะดีษอีกเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่นท่านนบี (ศ็อลฯ ) ได้กล่าวว่า    

      “ หญิงหม้ายจะไม่ได้รับการสมรสจนกว่าจะได้ขอคำสั่งจากนางและหญิงโสดจะไม่ได้รับการสมรสจนกว่าจะได้ขออนุญาตจากนาง” บรรดาเศาะฮาบะฮฺกล่าวว่า“ โอ้ท่านรลุลลอฮฺการอนุญาตของหญิงโสดนั้นเป็นอย่างไร? ท่านนบีตอบว่า“ การนิ่งเฉยของนาง” 

      การสมรสหญิงโสดที่บรรลุนิติภาวะแล้วจะต้องได้รับความยินยอมจากนาง เป็นทัศนะของมัซฮับหะนะฟีย์และมัซฮับฮัมบะลีย์ตามรายงานกระแสหนึ่ง อัตตัรมีซีย์ได้รายงานจากนักปราชญ์ส่วนใหญ่ว่ามีทัศนะเช่นนี้

      ดังนั้นการสมรสของหญิงหม้ายและหญิงโสดที่บรรลุนิติภาวะแล้วโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางจึงมีผลที่แตกต่างกัน คือการสมรสหญิงหม้ายจะเป็นโมฆะ สำหรับหญิงโสดนั้นจะให้สิทธิแก่หญิงที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการสมรส หากยอมรับก็มีผลสมบูรณ์ แต่หากปฏิเสธก็ถือว่าเป็นอันยกเลิกไป ดังหะดีษต่อไปนี้

      “มีสาวโสดผู้หนึ่งได้ไปหาท่านนบี (ศ็อลฯ) และได้เล่าให้ท่านนบี (ศ็อลฯ) ว่าบิดาของนางได้สมรสนางโดยที่นางเกลียด ท่านนบีจึงให้นางมีสิทธิที่จะเลือกรายงานโดยอะหมัด อบูดาวูด อิบนุมายะฮฺและอัตตาเราะกุฎนีย์ 

      หมายความว่าให้สิทธิแก่นางในการที่จะยอมรับการสมรสของบิดาและสิทธิในการที่จะปฏิเสธ แต่หลักกฎหมายอิสลามฯ มิได้พูดถึงสิทธิที่จะเลือกนี้แต่อย่างใด เพราะยึดทัศนะของมัซฮับชาฟีอีย์เป็นหลัก

      สำหรับอำนาจของวะลีย์มุจญ์เบรในการสมรสผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายนั้น มีรายงานว่าความเห็นดังกล่าวนี้เป็นอิจญ์มา (มติเอกฉันท์) ของบรรดานักกฎหมายอิสลามระดับมุจญ์ตะฮิตทั้งหลาย โดยมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้เป็นบิดามีอำนาจจัดการสมรสบุตรสาวของตนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะคือ หะดีษจากท่านอาอิชะฮฺรายงานว่า

      “ท่านนบี(ศ็อลฯ) ได้สมรสกับนาง (อาอิชะฮฺ) ขณะที่นางมีอายุ 6 ปี และนางได้ถูกส่งตัวไปยังท่านนบีขณะที่มีอายุ 9 ปี และนางได้อยู่กับท่านนบี 9 ปีรายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม

      เป็นหะดีษที่ชัดเจนมากที่แสดงว่า บิดามีอำนาจจัดการสมรสบุตรสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยไม่จำเป็นต้องขอความยินยอม เพราะความยินยอมของผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้นไม่มีความหมายทั้งไม่มีผลทางกฏหมายอีกด้วย

      ข้อสังเกต 2 ประการในการยึดหะดีษดังกล่าว นำมาใช้เป็นหลักฐานในเรื่องนี้ ประการแรก คือเหตุการณ์นี้ถ้าดูตามเนื้อหาของหะดีษแล้วเกิดขึ้นที่มักกะฮฺ ซึ่งอาจเป็นไปได้มากที่การกระทำดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการบัญญัติถึงความจำเป็นในการขอความยินยอมจากสตรี ประการที่สอง คือ เรื่องนี้เกิดขึ้นกับท่านนบี (ศ็อลฯ) เอง ซึ่งอาจเป็นการบัญญัติเฉพาะตัวท่าน อีกทั้งผลดีที่ได้รับจาการสมรสกับท่านนบีนั้นมีมากมายเกินที่จะนับได้จะไปเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นไม่ได้ นอกจากนี้การสมรสของท่านนบีนั้นอาจกระทำโดยได้รับคำบัญชาเป็นกรณีเฉพาะจากอัลลอฮฺก็ได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ไม่มีใครที่สามารถปฏิเสธได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้หะดีษดังกล่าวเป็นหลักฐานในเรื่องนี้ได้

      อาจจะด้วยเหตุผลที่กล่าวมาจึงมีนักกฎหมายอิสลามบางท่าน เช่น อิบนุ ชุบรุมะฮฺ และอัลบัตตีย์ มีความเห็นว่าการสมรสของผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้นเป็นโมฆะ ซึ่งความเห็นดังกล่าวนี้เป็นทัศนะของมัซฮับซอฮีรีย์อีกด้วย

      3. ชายหญิงคู่สมรส

      องค์ประกอบประการที่สามของสัญญาสมรสคือชายหญิงคู่สมรสซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ

      ก. คู่สมรสจะต้องเป็นชายฝ่ายหนึ่ง และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นหญิง สำหรับผู้ที่แปลงเพศนั้นไม่อาจสมรสได้เพราะการแปลงเพศนั้นนอกจากจะไม่เป็นที่ยอมรับของอิสลามแล้วยังถือว่าเป็นการกระทำที่ควรได้รับการประณามและสาปแช่ง เพราะเป็นการกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงสร้างไว้อย่างดีแล้ว

      . จะต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามในการสมรส ทั้งต้องห้ามสมรสถาวรหรือต้องห้ามสมรสชั่วคราวตามที่ได้กล่าวรายละเอียดมาแล้วในเรื่องเงื่อนไขของการหมั้น

      ค. ชายหญิงต้องทราบอย่างชัดเจนว่าตนสมรสกับใคร แต่ไม่จำเป็นต้องรู้จักหรือเคยเห็นมาก่อน  

      ง. คู่สมรสจะต้องยินยอมเป็นสามีภรรยากัน ยกเว้นในกรณีที่หญิงยังเป็นโสดอยู่และวะลีย์ที่ทำการสมรสเป็นบิดาหรือซึ่งเป็นวลีมุจญ์เบรมาแล้ว สำหรับหลักกฎหมายอิสลามมาตรา 49(4) ถือว่าความยินยอมในกรณีเช่นนี้มิได้เป็นเงื่อนไขในการสมรสแต่อย่างใด และอีกกรณีหนึ่งที่การยินยอมนั้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขคือกรณีการสมรสของชายหรือหญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (มาตรา 42)

      4.พยาน

      องค์ประกอบประการสุดท้ายของการสมรสคือพยาน นักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่ถือว่าพยานบุคคลจำนวน 2 คนนั้นเป็นเงื่อนไขแห่งการสมรส และนักกฎหมายอิสลามส่วนหนึ่งถือว่าพยานบุคคลนั้นเป็นองค์ประกอบของการสมรส ซึ่งความแตกต่างในความเห็นดังกล่าวนี้ไม่มีผลทางปฏิบัติแต่อย่างใด เพราะการสมรสที่ขาดพยานนั้นถือว่าเป็นโมฆะตามทัศนะทั้งสอง ทั้งนี้เพราะพยานเป็นบุคคลที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสมรส ด้วยเหตุผลที่การสมรสนั้นควรกระทำอย่างเปิดเผยทั้งควรประกาศให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปด้วยท่านนบี (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

      "ความแตกต่างระหว่างของหะลาลและหะรอม คือ กลองและเสียงร้องในการสมรสรายงานโดย นักรายงานทั้งห้ายกเว้นอบูดาวูด 

      เพราะการที่ชายหญิงจะอยู่ร่วมกันในฐานะที่เป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้องนั้น จะต้องด้วยการสมรสเท่านั้น การอยู่ร่วมกันอย่างผิดกฎหมายนั้นอิสลามไม่เพียงแต่ไม่ยอมรับเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการกระทำความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษอย่างหนักอีกด้วย ถึงอย่างไรก็ตามการประกาศด้วยการจัดงานสมรสนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำไม่ได้เป็นเงื่อนไขแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ถือว่าจำเป็นคือต้องมีพยานบุคลที่เป็นชาย 2 คนที่รู้เห็นการสมรส อิมรอน บินฮุศอยน. (เราะฎิฯ) รายงานในเรื่องนี้จากท่านนบี(ศ็อลฯ) ว่า  

      “ ไม่ถือว่าเป็นการสมรสที่ถูกต้อง เว้นแต่ที่กระทำโดยวะลีย์และมีพยานที่เป็นอัดล.สองคน รายงานโดย อัลค็อลลาล

      ทั้งนี้ เพราะการสมรสจะมีผลไม่เฉพาะคู่สมรสเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อบุคคลอื่นอีกด้วย เช่นลูก ๆ และญาติของทั้งสองฝ่ายที่กลายเป็นผู้ต้องห้ามในการสมรส จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้มีพยานเพื่อให้สามารถรู้ผลกระทบด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการสมรสอย่างชัดเจน

      คุณสมบัติของพยาน

      ผู้ที่จะเป็นพยานได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

      1. เป็นมุสลิม

      2. เป็นชายที่บรรลุนิติภาวะแล้ว

      3. เป็นอิสรชน

      4. มีสติปัญญาเยี่ยงสามัญชน

      5. เป็นอัดล.

      6. มีประสาทสัมผัสในการมอง การฟัง และการพูดเป็นปกติ

      7. รู้ภาษาที่ใช้ในการอีญาบและเกาะบูล

      8. ไม่เป็นวะลีย์อักร็อบที่มีเพียงคนเดียวของฝ่ายหญิงในขณะสมรส ซึ่งมีหน้าที่จะต้องเป็นวะลีย์ในการสมรสอยู่แล้ว

      หลักกฎหมายอิสลามฯ ได้บัญญัติเรื่องพยานในหมวด 5 มาตรา 57, 58, 59 และ 60   

      เหตุที่ต้องมีการเข้มงวดในการกำหนดคุณสมบัติของพยานเช่นนี้ อาจเป็นเพราะต้องการได้บุคคลที่เป็นที่ยอมรับเมื่อเขาพูดแล้วทุกคนจะเชื่อถือโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น กล่าวคือเมื่อพยาบยืนยันว่าชายหญิงคู่นี้ได้สมรสกันอย่างถูกต้องแล้วทุกคนก็จะยอมรับ 


  • หัวข้อ 3

    • หนังสือ icon

      สินสอด ภาษาอาหรับเรียกว่า มะฮัร ตามหลักศาสนาบัญญัติหมายถึง ทรัพย์ซึ่งฝ่ายชายจำเป็นจะต้องให้แก่หญิงคู่สมรส ในขณะที่สินสอด ตามกฎหมายไทย เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณีเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดย มีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ท้าให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียก สินสอดคืนได้

      สำหรับสินสอด (มะฮัร) ตามทัศนะอิสลามมันมิใช่องค์ประกอบหลักของการสมรส หรือเงื่อนไขในองค์ประกอบดังกล่าว เพียงแต่จะมีผลด้านนิติบัญญัติหากฝ่ายชายปฏิเสธการให้สินสอดแก่ฝ่ายหญิง ที่สำคัญส่งเสริมให้ขานจำนวนของสินสอดในการประกอบพิธีสมรส ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาพิพาทที่จะเกิดขึ้นระหว่างคู่สมรสทั้งสองอัลลอฮฺได้โองการไว้ ความว่า “และเจ้าทั้งหลายจงนำมาให้แก่บรรดาหญิง (คู่สมรส) ซึ่งสินสอดของพวกนางด้วยความเต็มใจ” 

      ในขณะที่ท่านนบี มูฮัมมัดจะทำการสมรสให้ชายผู้หนึ่งท่านได้กล่าวแก่ชายผู้นั้น กล่าวว่า : “ท่านจงมอบอาภรณ์แก่นาง” ชายผู้นั้นกล่าวว่า : “ฉันไม่มี” ท่านนบี กล่าวว่า : ท่านจงมอบให้แก่นางถึงแม้ว่าจะเป็นแหวนที่ทำจากเหล็กก็ตาม”

      นิยาม มะฮัรกับสินสอด   "สินสอด" หมายถึง ทรัพย์น้ำใจที่ทางฝ่ายสามีจะมอบให้แก่บิดามารดาของฝ่ายหญิงในพิธีสมรส ในฐานะที่ทั้งยอมยกลูกสาวให้ตน" ส่วน "มะฮัร" หมายถึง "ทรัพย์ที่ทางสามีจะมอบแก่ภารยาของตนในพิธีสมรส ไม่ใช่บิดามารดาของเธอ" แต่เมื่อเธอได้รับมันแล้ว เธอก็สามารถที่จะมอบทรัพย์บางส่วนแก่ใครก็ได้ที่เธอต้องการ อีกหนึ่งคำนิยาม มะฮัรกับสินสอด  "สินสอด มอบให้พ่อแม่เจ้าสาว เหมือนเป็นค่าน้ำนม"

      มะฮัรฺ มอบให้เจ้าสาวในวันแต่งงานเมื่อผ่านการนิกะห์แล้วเป็นของเจ้าสาวครึ่งหนึ่ง เมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้วเป็นของเจ้าสาวทั้งหมด

      ในศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับเรื่องสินสอดทองหมั้นที่ฝ่ายชายต้องมอบให้กับฝ่ายหญิงเพื่อเป็นของขวัญวันแต่งงานอย่างมากทีเดียว ถ้าฝ่ายชายละเลยในเรื่องของสินสอด การแต่งงานก็ถือเป็นอันต้องโมฆะไป ซึ่งตามหลักแล้วมูลค่าของสินสอดที่ว่าจะเป็นเรื่องที่ตกลงกันระหว่างผู้ปกครองของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงและไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในรูปของเงินทอง เพชร นิลจินดาเสมอไป อาจแทนด้วยสิ่งมีค่าที่เป็นนามธรรม เช่น การสอนอ่าน พระคัมภีร์อัลกุรอ่านอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

      แต่ทั้งนี้ มะฮัรกับสินสอดที่ฝ่ายชายนำมามอบในพิธีจะถือเป็นสมบัติของฝ่ายหญิงในทันที เมื่อทำการมอบให้แล้ว การมอบสินสอดของศาสนาอิสลามไม่เหมือนกับประเพณีของบางศาสนา ที่จะต้องให้ผู้ปกครองของฝ่ายหญิงเป็นผู้มอบสินสอดให้กับฝ่ายชายเพื่อมาแต่งงานกับลูกสาวของตน ซึ่งค่านิยมเช่นนี้ ไม่มีให้เห็นใน ศาสนาอิสลามและซ้ำยังถูกว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกับสตรีเพศ อีกด้วย

      ความสำคัญของมะฮัรกับสินสอด   

      ที่สำคัญสินสอดนั้นเหมือนกับการปฏิบัติในยุคญาฮีลียะห์ ซึ่งที่เวลาบุตรสาวแต่งงาน ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของบิดามารดาทันที โดยที่ลูกสาวนั้นไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ผู้ชายมอบให้ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับความหมายของมะฮัรในอิสลาม มะฮัรในอิสลามนั้นคือ ทรัพย์สินต่างๆที่ฝ่ายชายมอบให้เพื่อเป็นการแสดงถึงเกียรติของผู้หญิงและบิดามารดานั้นไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์นี้ เว้นแต่ด้วยการยินยอมของบุตรสาว

      จากความหมายข้างต้น เราจะเห็นว่า มะฮัรและสินสอดนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยที่จากคำนิยามของสินสอดนั้น คือ สิ่งที่อิสลามให้การปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง อิสลามกำหนดกฎเกณฑ์ รูปแบบและวิธีการปฏิบัติต่อบทบัญญัติด้านต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มะฮัรเป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติอิสลามที่มีกฎเกณฑ์รูปแบบวิธีการและรายละเอียดที่แตกต่างจากสินสอด ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่อิสลามได้กำหนดไว้ มะฮัรจึงเป็นสิ่งหนึ่งในเรื่องราวทั้งหลายแห่งบทบัญญัติอิสลาม อันเป็นกฎเกณฑ์แห่งการปฏิบัติในด้านการสมรส พื้นฐานของมะฮัรจึงถูกสถาปนาไว้อย่างมั่นคงและมีความสร้างสรรค์ในตัวของมันเอง

      ความหมายของมะฮัรในเชิงภาษาศาสตร์

      คำว่า  "มะฮัร" เป็นคำภาษาอาหรับมาจากรากศัพท์ของประโยคว่า "วะก๊อด" มะฮะรอ อัลมัรรอะตะ มีความหมายว่า ( และแท้จริงเขาได้มอบมะฮัรให้แก่สตรี )

      ความหมายของมะฮัรในเชิงวิชาการ

      มะฮัร หมายถึงสิ่งที่วาญิบ (จำเป็น) ด้วยสาเหตุของการสมรส หรือการเสพเมถุนเนรโทษ (การร่วมประเวณีโดยสำคัญผิดตัว) หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยบังคับ

      อันนะวะวีย์ ให้ความหมายของคำว่ามะฮัรว่า ทรัพย์สินที่ชายจำเป็นต้องจ่ายให้แก่หญิงด้วยสาเหตุมาจากสมรสหรือการร่วมประเวณี

      ดุสูกีย์ให้ความหมายของคำว่ามะฮัรว่า ทรัพย์สินที่ชายจำเป็นต้องมอบให้แก่ภริยาเพื่อเป็นการตอบแทนจากการเสพสุขอวัยวะเพศของนาง

      จากความหมายของมะฮัร ตามที่ได้กล่าวมานั้นแม้จะมีสำนวนที่แตกต่างกันแต่ความหมายโดยรวมแล้วมุ่งไปที่ประเด็นเดียวกันคือทรัพย์สินที่ชายจำเป็นต้องมอบให้แก่หญิงอันเนื่องจากการสมรสเพื่อเป็นการตอบแทนแก่นาง

      ความแตกต่างระหว่างสินสอดกับมะฮัร

      สินสอด คือ สิ่งที่ชายต้องมอบให้แก่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณค่าเลี้ยงดู โดยสินสอดทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อแม่ ภริยาไม่มีสิทธิ์ในสินสอดแต่อย่างใด แต่มะฮัรคือสิ่งที่ชายจำเป็นต้องมอบให้กับภริยา โดยนางมีสิทธิ์ในมะฮัรทั้งหมด โคยนางจะจัดการกับมะฮัรอย่างไรก็ได้ ซึ่งพ่อแม่ไม่มีสิทธิ์ในมะฮัรหากไม่ได้รับการอนุมัติจากนาง

      สินสอดมีความแตกต่างจากของหมั้นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่ 3 ประการดังต่อไปนี้

      1. สินสอดจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายหญิง หากให้บุคคลอื่นไม่ถือเป็นสินสอด หรือหากให้แก่หญิงโดยตรงก็ไม่ใช่สินสอดแต่เป็นของหมั้น

      2. สินสอดนั้นไม่จำเป็นต้องให้ขณะทำการหมั้น จะตกลงให้สินสอดหลังสมรสก็ได้ แต่จะต้องมีการตกลงกันเรื่องสินสอดก่อนสมรส หากการตกลงเรื่องการให้ทรัพย์สินแก่ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเกิดขึ้นหลังการสมรส เช่นนี้เป็นการให้โดยเสน่หาไม่ใช่สินสอด

      3. สินสอดนั้นต้องให้เพื่อตอบแทนการที่หญิงขอมสมรส ไม่ใช่เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสเหมือนของหมั้นหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น เพื่อขอขมา ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีสาเหตุมาจากหญิง เช่น หญิงคู่หมั้นเป็นโรคร้ายแรงหรือหญิงคู่หมั้นทิ้งชายไปต่างประเทศไม่ยอมกลับมาอีก ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ แต่ถ้าชาชบิดพลิ้วไม่ยอมสมรส หรือชายหญิงต่างละเลยไม่ไปจดทะเบียนสมรส ฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนสินสอด

      สิทธิและอัตราของสินสอด

      สินสอดเป็นสิทธิของฝ่ายหญิงเพียงผู้เดียว ซึ่งย่อมมีสิทธิที่จะจัดการอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะยกให้ผู้ปกครอง ญาติ บริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือแม้กระทั่งมอบกลับคืนให้กับสามีก็ได้

      ศาสนบัญญัติมิได้กำหนดอัตราสินสอดที่แน่นอน เพียงแต่ให้เป็นทรัพย์ หรือสิ่งที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์ได้ หรือเป็นประโยชน์ก็ตาม เช่น การสอนอัลกุรอาน เป็นต้น บันทึกโดยอิหม่าม บุคอรี :4341/มุสลิม : 1425

      ดังนั้นหากจะสรุปจากคำนิยามตามกฎหมายอิสลามกับกฎหมายไทย สินสอดหรือมะฮัรตามกฎหมายอิสลามจึงไม่เหมือนกับสินสอดตามกฎหมายไทย   

      1. “มะฮัร ” ไม่เท่ากับ สินสอด

      2. “มะฮัร” ไม่ใช่ราคาการซื้อขายส่งมอบฝ่ายหนึ่งให้อีกฝ่ายหนึ่งในฐานะเป็นราคาของสิ่งนั้น

      3. “มะฮัร” ถูกกำหนดมาเพื่อด้อยค่าเรื่องการตั้งราคาฝ่ายหนึ่งเป็นดั่งสินค้า ซึ่งในยุคมืดที่บิดามารดาเป็นผู้ตั้งราคาและเป็นเจ้าของสินสอดนั้น

      4. “มะฮัร “ มันมี Sense ของของขวัญ การผูกสัมพันธ์ ผูกมัด ความพึงใจ การรวมความรู้สึกร่วมระหว่าง 2 ฝ่ายอยู่ด้วย

      5. “มะฮัร “เป็นสิทธิของเจ้าสาวล้วนๆไม่เกี่ยวกับพ่อแม่

      6. สมฐานะสตรี อันนี้ไม่ได้แปลเป็นราคาหรือมูลค่าของทรัพย์สินอย่างเดียว แม้เงื่อนไขของสิ่งที่นำมาเป็น “มะหัร” ได้ ต้องตีราคาออกมาเป็นมูลค่าการซื้อขายทรัพย์ที่เป็น “มะหัร” นั้นได้ แต่มันยังมี Sense ในเรื่องมูลค่าทางจิตใจด้วย

      7. “มะฮัร ” หมายถึงองค์ประกอบของการตกลงที่จะผูกมัดสองฝ่ายเข้าด้วยกัน เป็นองค์ประกอบของการโอนย้ายหน้าที่ในการดูแล ปกป้อง คุ้มครอง ทะนุทนอม ซึ่งแต่เดิมเป็นหน้าที่ของวะลี (บิดา) สู่ผู้เป็นสามี

      8. “มะฮัร” ดูเหมือนจะให้ความสำคัญของความพึงพอใจของเจ้าสาวอยู่มากเพราะเธอเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใน “มะหัร” นั้น น่าจะต้องฟังความพึงใจของเธอให้มาก ไม่ใช่คำนึงแต่ความพึงพอใจของครอบครัวของเธอ

      9. ในเมื่อมันมี Sense ของทรัพย์ที่มากกว่าทรัพย์สินรวมอยู่ด้วย อิสลามจึงกำหนดเรื่อง “นาฟาเกาะฮฺ” มาผูกมัดสำทับผู้เป็นสามีอีกที 

      10. ทำความเข้าใจเรื่อง “มะฮัร ใน sense นอกกระแสแล้ว มันรุ้สึกโรแมนติก

      เหตุผลในการบัญญัติมะฮัร

               อัลลอฮฺ ได้บัญญัติการสมรส อีกทั้งได้วางระเบียบการเพื่อเป็นองค์ประกอบและได้กำหนดเงื่อนไขเพื่อรับรองการสมรส นักกฎหมายอิสลามได้ให้การสมรสเริ่มต้นด้วยสำนวนที่เฉพาะแล้วตามด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆของการสมรส ส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์เหล่านั้น คือ มะฮัร อัลลอฮ.ได้กำหนดให้มะฮัรเป็นหน้าที่ของผู้ชายในการแสวงหาความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์กับภริยา ทั้งมีการบัญญัติให้ชายต้องจ่ายมะฮัรให้กับหญิงทั้งใน อัลกุรอานและอัลหะดีษ และมีการห้ามผู้ปกครองยึดเอามะฮัรของบุตรสาวมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง เพราะบุตรสาวนั้นไม่ใช่สินค้าที่จะมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน แต่ทว่านางคือผู้สูงส่งและมีเกียรติยิ่ง ซึ่งนางเปรียบเสมือนของฝาก (อะมานะย์) ที่สามีจะต้องปกป้องรักษาไว้เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อผู้ชายต้องการแสวงหาความสุขด้วยการมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง และแสวงผลประโยชน์จากนางในการใช้ชีวิตร่วมกัน อิสลามได้บัญญัติให้ผู้ชายมอบมะฮัรให้กับหญิงที่ตนได้สมรส เพื่อเป็นการแสดงถึงความจริงใจในความต้องการของชายที่มีต่อหญิง ดังอัลลอฮฺ  ได้กำหนดมะฮัรกับท่านนบีอะดัมขณะที่ท่านด้องการเข้าใกล้นางหะวาอ. โดยมะลาอิกะฮ.ได้กล่าวกับนบีอะดัมว่า โอ้ อะดัมท่านจงออกห่างจากนางจนกว่าจะได้มอบมะฮัรให้แก่นาง แบบอย่างดังกล่าวบ่งบอกว่า ภริยาคือ ผู้เป็นเจ้าของมะฮัรอย่างสมศักดิ์ศรี และเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกันในทุกยุคทุกสมัย (al- Sharbini, 1975 : 3/366)

      ในบทบัญญัติของอิสลามย่อมมีเหตุผลเสมอ ไม่ว่าอิสลามจะมีการบัญญัติเรื่องใดก็ตาม มะฮัรก็เช่นเดียวกัน อัชซูหัยลีข์กล่าวว่า เหตุผลในการบัญญัติมะฮัรนั้นเป็นการเปิดเผยความต้องการอย่างจริงใจของฝ่ายชายในการสมรสและการใช้ชีวิตฉันท์สามีภริยา เป็นการยกย่องและให้เกียรติแก่หญิง เป็นจุดเริ่มต้นของรากฐานแห่งการดำเนินชีวิตคู่อย่างสมเกียรติ เพื่อให้ความตั้งใจในการดำเนินชีวิตคู่นั้นสมบูรณ์และมีความมั่นคง และเพื่อฝ่ายหญิงจะได้เตรียมตัวในสิ่งที่จำเป็นเช่นเครื่องแต่งกายและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการสมรส (al- Zuhayli, 1989: 71253)

                มะฮัรเป็นบทบัญญัติที่อิสลามกำหนดขึ้นเพื่อลบล้างระบบแห่งความงมงาย การกดขี่ข่มเหงของสามีในยุคสมัยก่อนอิสลามที่เห็นผู้หญิงไร้ค่าไม่มีความสำคัญและไม่มีสิทธิ์ครอบครอง ทรัพย์สินอะไรเลย เป็นการวางหลักประกันให้กับนางเพื่อไม่ให้ผู้ชายมักง่ายมองนางเป็นแค่ทางผ่านเพื่อสนองอารมณ์เพียงชั่วครู่ ด้วยการกำหนดมะฮัร ทำให้ชายได้นึกถึงทรัพย์สินที่เขาได้สละไป และมีความเสียดายต่อทรัพย์สิน โดยไม่คิดเปลี่ยนคู่ครองด้วยเหตุผลเพียงเล็กน้อย อัสสิตลานีย์ กล่าวว่า กฎหมายอิสลามได้บัญญัติให้สามีต้องจ่ายมะฮัรให้แก่ภริยา เพื่อเป็นการปลอบใจนาง ยอมรับศักดิ์ศรีของนาง และเพื่อเป็นการลบล้างสภาพความงมงายของชนสมัยก่อนที่เคยเอารัดเอาเปรียบนาง กักตุนนาง เหยียดหยามนาง และเอาทรัพย์สมบัติของนาง ซึ่งมันคือสิทธิส่วนตัวของนาง และเป็นกรรมสิทธิ์ของนาง ไม่มีญาติคนใดเป็นหุ้นส่วนในกรรมสิทธิ์นั้นเลย ดังนั้น นางมีสิทธิ์ที่จะให้ มะฮัรซึ่งเป็นสิทธิของนางกับใครหรือให้ใครยืมมะฮัรของนาง หรือเอามะฮัรไปบริจาคทาน และการใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อิสลามอนุญาติ (al-Sidlan, 1416 : 12-13)

                ดังนั้น มะฮัรจึงเป็นบันไดขั้นแรกของการสมรสที่บ่งบอกถึงความเสียสละของผู้ที่เป็นสามีที่จะต้องมอบให้กับภริยา เพื่อแสดงถึงความรักและความจริงใจที่พร้อมจะให้แก่นาง เพื่อเป็นหลักประกันให้กับตัวนาง ทั้งได้รับรู้ถึงความจริงใจอย่างแท้จริงในการที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันตลอดไป และมะฮัรถูกกำหนดเป็นหน้าที่ของชาย เพราะชาย คือ ผู้นำครอบครัวและด้วยรูปลักษณ์และพลังตามสรีระที่พระเจ้าให้กับชายเหนือกว่าหญิงเป็นผู้สืบตระกูลและผู้รับผิดชอบค่าอุปการะเลี้ยงดู อัรรอพีอีย์ ได้กล่าวว่าการบัญญัติมะฮัรเพื่อให้เกิดความรักความห่วงใยระหว่างสามีภริยาและมะฮัรเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชายเพราะผู้ชายนั้นแข็งแรง และผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัวและวงศ์ตระกูล (al- Rafi'i, 1997 : 8/230)

                อิสลามได้บัญญัติมะฮัร ไม่ใช่เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างตัวผู้เป็นภริยากับสิ่งมีค่าของสามี แต่มะฮัรคือเกียรติแห่งความดีที่สูงส่งของหญิง ท่านบุรฮาน นุดดีน ได้กล่าวว่า อิสลามได้บัญญัติมะฮัรเพื่อให้เกิดความมีเกียรติแห่งการสมรสไม่ใช่บัญญัติมะฮัรเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเสมือนกับราคาสินค้าจากการซื้อขายหรือเป็นค่าจ้างจากการว่าจ้างเพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว จำเป็นจะต้องระบุมะฮัรก่อนสัญญาสมรสแต่สัญญาสมรสนั้นใช้ได้โดยไม่ต้องระบุมะฮัรในขณะทำสัญญาสมรส (Burhan al-Din, 1315 : 2/434-435)

                สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกที่อัลลอฮฺทรงสร้างมาล้วนแต่มีความสำคัญและมีค่าในตัวของมันเอง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีความแข็งแกร่งหรือมีความอ่อน โดย ผู้ชายและผู้หญิงก็เช่นเดียวกันทั้งสองมีความสำคัญและมีค่าที่แดกต่างกัน ถ้ามองถึงสภาพทั่วไปแล้วชายน่าจะใช้กำลังและความแเข็งแกร่งที่มีอยู่บังคับและขู่เข็ญเพื่อให้ได้นางมาครอบครอง แต่ด้วยความอ่อนโยนความมีค่าในตัวของหญิง จึงทำให้ชายจำขอมที่จะสรรหาและสละในสิ่งที่มีค่าเพื่อแลกกับตัวนาง สิ่งนั้นคือมะฮัรที่อิสลามได้กำหนดให้ชายต้องมอบให้กับหญิงที่เขาสมรส อิสลามได้กำหนดมะฮัรตามสภาพที่เป็นจริงและถูกต้อง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของมนุยย์ทั้งโลก เป็นการให้ความเป็นธรรมและรักษาปกป้องสิทธิซึ่งกันและกัน 

       บทบัญญัติของมะฮัร

      มะฮัรเป็นสิ่งที่วาญิบ ต้องจ่ายให้สตรีเป็นมติเอกฉันท์ของนักกฎหมายอิสลาม โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน

      มะฮัรเป็นสิ่งวายิบที่ชายต้องจ่ายให้ภริยา นักกฎหมายอิสลามมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มะฮัรเป็นสิ่งที่อิสลามกำหนดให้สามีต้องจ่ายแค่ภิริยาในการสมรส แต่การระบุมะฮัธในขณะทำสัญญาสมรสนั้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น

      อิบบุคุดคามะลุ กล่าวว่า อิสลามได้กำหนดมะฮัรเป็นสิ่งวาญิบในทุกครั้งที่การทำสัญญาสมรสโดยสามีต้องจ่ายให้แก่ภริยา แต่ทว่าการระบุมะฮัรในขณะทำสัญญาสมรสนั้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขในอันที่จะทำให้สัญญาสมรสนั้นถูกต้องใช้ได้

      ดังนั้นมะฮัรเป็นสิ่งจำเป็นในการสมรส แต่ทว่าบางครั้งได้มีการตกลงอัตรามะฮัรในสัญญาสมรสมาแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องง่ายมะฮัรตามอัตราที่ได้ตกลงกันไว้ และบางครั้งไม่ได้มีการตกลงกัน จึงไม่ได้ระบุมะฮัรในขณะทำสัญญาสมรส

      ผู้มีสิทธิ์ในค่ามะฮัร

      1. มะฮัรเป็นสิทธิ์ของสตรีผู้เป็นภริยาเท่านั้นไม่มีใครมีสิทธิ์ร่วมกับนาง นางจึงมีสิทธิ์ครองค่ามะฮัรแต่เพียงผู้เดียว

      2. มะฮัรเป็นสิทธิของภริยาคนเดียว โดยไม่มีใครมีสิทธิในมะฮัรนั้น มะฮัรเป็นสิ่งที่นางจะเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นความต้องการของนาง

      ผู้กำหนดมะฮัร

      เมื่อมะฮัรเป็นสิ่งที่กฎหมายอิสลามกำหนดในการสมรส ดังนั้นการกำหนดมะฮัร ในเรื่องนี้พอที่จะสรุปได้ 2 ประการดังนี้

      1. ช่วงเวลาทำสัญญาสมาสมะฮัร เป็นสิทธิ์แห่งอัลลอฮ.ที่พาดพิงไปถึงหญิงและผู้ปกครอง สำหรับการ

      กำหนดมะตัวเป็นสิทธิ์แห่งอัลลอฮนั่นมีความชัดเจนบางครั้งกำหนดโดยการระบุมะฮัรในการทำสัญญาสมรส บางครั้งโดยการกำหนดจำนวนมะฮัรมิบิล หากไม่ได้ระบุมะฮัรใบสัญญาสมรส สามีกริยาจะตกลงกันปฏิเสธมะฮัร ถือว่าไม่อนุมัติ จึงเป็นสิ่งชี้ชัดว่ามะฮัรเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮ.และอีกอย่างคือบรรดานักกฎหมายอิสลามได้มีข้อกำหนดจำนวนน้อยสุดของมะฮัร การกำหนดจำนวนมะฮัรเป็นข้อกำหนดของกฎหมายอิสลาม และกฎหมายอิสลามก็ไม่ยินยอมให้ระบุจำนวนมะฮัรน้อยกว่าที่กฎหมายอิสลามได้กำหนดไว้ ดังนั้นเมื่อระบุจำนวนมะฮัรน้อยกว่าจำนวนน้อยสุดที่กฎหมาย อิสลามกำหนดไว้จำเป็นจะต้องเพิ่มให้ได้ตามจำนวนน้อยสุดที่กฎหมายอิสลามระบุไว้ ตามทัศนะมัชฮับหะนะฟีย์ได้กำหนดจำนานน้อยสุดของมะฮัรไว้ 10 ดิรฮัม'เมื่อมีการตกลงสมรสในมะฮัรที่น้อยกว่า 10 ดิรฮัม จะต้องเพิ่มให้ครบ 10 ดิรฮัม ด้วยเหตุผลที่ว่า นั้นคือจำนวนที่กฎหมายอิสลามได้กำหนดไว้

      2. เมื่อสัญญาการสมรสเสร็จสิ้นสมบูรณ์ มะฮัรที่ได้ระบุก็เป็นสิทธิของภริยาคนเดียวโดยไม่มีใครมีสิทธิในมะฮัรนั้น มะฮัรเป็นสิ่งที่นางสามารถเอาไปใช้ในสิ่งที่นางมีความต้องการ

              งานแต่งอิสลามใส่ซอง การไปร่วมงานแต่งงานอิสลาม คือ การแสดงความยินดีให้กับบ่าวสาว โดยอาจมีของขวัญไปร่วมยินดี ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักนิยมให้เงินใส่ซองแทนการไปเลือกของขวัญที่อาจไม่ถูกใจบ่าวสาวก็ได้ ดังนั้น เงินใส่ซองจึงเป็นที่นิยมให้เป็นของขวัญกันมากที่สุด จริงๆ แค่ไปร่วมงานบ่าวสาวก็มีความสุขมากแล้ว เงินใส่ซองเป็นเพียงของขวัญที่มอบเพื่อแสดงความยินดีเท่านั้น


  • หัวข้อ 4

    • หนังสือ icon

      ในปัจจุบันกฎหมายมีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งตาย และกฎหมายในเรื่องมรดกนี่ก็นับว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราจะทำความเข้าใจ เพราะว่าถ้าไม่มีกฎหมายมรดกแล้ว ก็จะทำให้สังคมวุ่นวาย เช่น อาจมีการฆ่ากันตาย เพราะแย่งทรัพย์สมบัติของผู้ตายเกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ได้ ต่างคนก็ต่างอยากได้ทรัพย์สมบัติมาเป็นของตัวเองมาก ๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร ดังนั้นกฎหมายจึงต้องเข้ามาวางหลักในเรื่องมรดกของผู้ตาย ว่าภายหลังจากผู้ตาย ตายแล้วทรัพย์สมบัติของเขาตกแก่ผู้ใด เพื่อมิให้เกิดการแย่งชิงกันระหว่างญาติของผู้ตายด้วยกันเอง

       

      ความหมายของมรดก

      มรดก” หรือ “กองมรดก” ของผู้ตายนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะตาย แต่ไม่ใช่ว่ามรดกของผู้ตายมีเพียงทรัพย์สินของผู้ตายเท่านั้น มรดกของผู้ตายยังรวมถึงสิทธิ์ หน้าที่และความรับผิดชอบต่าง ๆ ของผู้ตาย[1]

      อย่างไรก็ตามทรัพย์สินที่เป็นมรดกนั้นยังไม่สามารถนำมาแบ่งกันได้จนกว่าจะจัดการ 3 ประการนี้ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนคือ

      ·           ค่าใช้จ่ายในการจัดการทำศพของผู้ตาย

      ·           ใช้หนี้สินของผู้ตาย

      ·           ปฏิบัติตามพินัยกรรมที่ผู้ตายสั่งไว้ แต่ต้องไม่เกิน 1 ใน 3 ของทรัพย์สินที่เป็นมรดก ทั้งนี้หากมีการทำพินัยกรรมเกินกว่า 1 ใน 3 ต้องเป็นการยินยอมของทายาทที่มีสิทธิ์เที่มีสิทธิ์ในกองมรดกนั้นด้วย

      เมื่อเสร็จสิ้นทั้ง 3 ประการนี้แล้วก็ให้เอาทรัพย์สินที่เหลือมาแบ่งตามสัดส่วนที่ผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกนั้น ๆ

       

       

       

      องค์ประกอบของการแบ่งมรดกตามกฎหมายอิสลาม     

      องค์ประกอบของการแบ่งมรดกตามกฎหมายอิสลามจะประกอบด้วย เจ้ามรดก (ผู้ตาย)  ทายาท (ผู้มีสิทธิ์รับมรดก) และทรัพย์สินของผู้ตาย โดยมีเงื่อนไขของการรับมรดก คือ

      ·           มีความมั่นใจว่าเจ้ามรดกได้เสียชีวิตแล้ว แต่มีข้อสังเกตว่าการตายของบุคคลนั้น ในทางกฎหมายจะมีได้ 2 อย่าง คือ ตายโดยธรรมชาติ และตายโดยผลของกฎหมายหรือที่เรียกว่าสาบสูญ ดังนั้นหากเป็นการไม่แน่ใจว่าเจ้ามรดกนั้นได้เสียชีวิตแล้วหรือไม่ ก็ให้ถือคำสั่งของตุลาการ หรือ ดาโตะยุติธธรมเป็นข้อชี้ขาด

      ·           ทายาทมีชีวิตหลังจากเจ้ามรดกเสียชีวิต

      ·           ไม่มีข้อห้ามในการสืบมรดกเช่นเจ้ามรดกกับผู้รับมรดกต่างศาสนากัน

      เมื่อครบองค์ประกอบและเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ก็สามารถที่จะดำเนินการแบ่งมรดกได้

      ส่วนการรับมรดกแบบทายาทอิสลามได้ให้ความสำคัญและให้ความเป็นธรรมกับทุก ๆ คนตั้งแต่ลูก ๆ โดยไม่ให้ความแตกต่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็มีส่วนได้รับมรดกทั้งสิ้นส่วนทางด้านสามีภรรยาก็มีส่วนได้รับมรดกอันเนื่องมาจากการแต่งงานกันและนายทาสที่ปล่อยทาสให้เป็นอิสระเมื่อทาสตายลงนายทาสก็มีสิทธิ์ได้รับมรดกจากทาสของตนที่ได้ปล่อยไป

      อิสลามได้กำหนดการแบ่งส่วนที่ชัดเจนของแต่ละบุคคลที่มีส่วนได้รับสิทธิ์ในกองมรดกนั้น ๆ ดังนั้นการแบ่งมรดกตามแบบอิสลามจึงมีความสำคัญที่ชาวมุสลิมต้องหันมาศึกษาและเอาใจใส่ อิสลามได้วางระบบในเรื่องมรดกไว้อย่างละเอียดซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติที่อัลลอฮ์ได้สร้างมนุษย์มาและพระองค์ได้ใช้ให้มนุษย์ขวนขวายแสวงหาทำมาหากินประกอบอาชีพและเก็บสะสมสิ่งที่แสวงหามาได้ซึ่งต่างจากสัตว์เดรัจฉานทั่วไปแท้จริงชีวิตไม่ได้สิ้นสุดด้วยกับความตายหากแต่ว่ายังคงเชื่อมต่อกับครอบครัวลูกหลานและทายาท



      [1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก มาตรา 1600


  • หัวข้อ 5

    • หนังสือ icon

      เมื่อบุคคลตายทรัพย์สินหรือมรดกของผู้ตายจะตกทอดได้แก่ใครนั้นกฎหมายให้ความสำคัญกับความตั้งใจของผู้ตายเป็นหลักว่าจะยกทรัพย์สินให้แก่ใคร ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ผู้ใดก็จะเป็นไปตามพินัยกรรม แต่ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ กฎหมายกำหนดให้มรดกตกทอดแก่ทายาท

       

      ผู้มีสิทธิ์รับมรดกในกฎหมายอิสลาม

      ผู้มีสิทธิ์รับมรดกในกฎหมายอิสลามนั้น จะแตกต่างจากทายาทตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากกฎหมายอิสลามนั้น ได้แยกประเภทผู้มีสิทธิ์ที่ได้รับระหว่างผู้มีสิทธิ์รับมรดกที่เป็นเพศชายและผู้มีสิทธิ์รับมรดกที่เป็นเพศหญิง ดังนี้

       

      ผู้มีสิทธิ์รับมรดกที่เป็นเพศชาย

      ผู้มีสิทธิ์รับมรดกที่เป็นเพศชายมี 15 ท่านคือ

       

       1. บิดา

       2. ปู่

       3. ลูกชาย

       4. ลูกชายของลูกชาย (หลานชาย)

       5. พี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน

       6. พี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดาเดียวกัน

       7. พี่ชายหรือน้องชายร่วมมารดาเดียวกัน

       8. ลูกชายของพี่ชายหรือลูกชายของน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน

       9. ลูกชายของพี่ชายหรือลูกชายของน้องชายร่วมบิดาเดียวกัน

       10. ลุงหรืออาชายพ่อแม่เดียวกับพ่อของผู้ตาย

       11. ลุงหรืออาชายพ่อเดียวกับพ่อของผู้ตาย

       12. ลูกชายของลุงหรือลูกชายของอาพ่อแม่เดียวกับพ่อของผู้ตาย

       13. ลูกชายของลุงหรือลูกชายของอาชายพ่อเดียวกับพ่อของผู้ตาย

       14. สามี

       15. ผู้ปล่อยทาสให้เป็นอิสระ (นายทาส)

       

      ผู้มีสิทธิ์รับมรดกที่เป็นเพศหญิง

      ผู้มีสิทธิ์รับมรดกที่เป็นเพศหญิงมี 10 ท่านคือ

      1. มารดา

      2. ย่า

      3. ยาย

      4. ลูกสาว

      5. ลูกสาวของลูกชาย (หลานสาว)

      6. พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน

      7. พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดาเดียวกัน

      8. พี่สาวหรือน้องสาวร่วมมารดาเดียวกัน

      9. ภรรยา

      10. หญิงที่ปล่อยทาสให้เป็นอิสระ (นายทาสหญิง)

       

      การสืบทายาทที่จะได้รับมรดก

      นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าสาเหตุในการสืบมรดกนั้น มี 3 ประการ ด้วยกัน

      1. ทายาทหรือความเป็นเครือญาติ ซึ่งได้แก่ทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดกในอิสลามญาติ คือมีความสัมพันธ์กันทางสายโลหิตซึ่งครอบคลุมทาง ลูกหลานของผู้ตายและทางผู้ให้กำเนิด เช่น บิดา ปู่

      2. การสมรสหมายถึงการสมรสที่ถูกต้องตามนิติบัญญัติอิสลามมีการสมรส (นิกะฮ์) กันอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขที่อิสลามกำหนดส่วนการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ แต่ไม่ได้ผ่านการสมรส (นิกะฮ์) ตามที่อิสลามกำหนดซึ่งตรงนี้ไม่เป็นเหตุให้มีสิทธิ์ในการสืบมรดก

       3. การไถ่ทาส ปัจจุบันในประเทศไทยได้ยกเลิกระบบทาสแล้วจึงไม่จำเป็นที่จะต้องสืบมรดกในส่วนนี้

       

      เครือญาติที่ไม่มีสิทธิ์รับมรดก

      เครือญาติ[1] (ซะวิลอัรฮาม) ตามหลักวิชาฟะรออิ๊ด หมายถึงบุคคลที่เป็นญาติใกล้ชิดกับผู้ตาย แต่ไม่มีสิทธิ์ในกองมรดกนั้น บุคคลที่เป็นเครือญาติ ที่ไม่มีสิทธิ์รับมาตกมีดังนี้

      1. ลูกของลูกสาวของผู้ตายทั้งผู้ชายและผู้หญิงรวมถึงชั้นหลานที่ต่ำลงไปอีก เช่น ลูกชายของลูกสาว ลูกสาวของลูกสาว     ลูกชายของลูกสาวของลูกสาว เป็นต้น

      2. ลูกของลูกสาวของลูกชาย ของผู้ตายทั้งผู้ชายและผู้หญิงรวมถึงชั้นหลานที่ต่ำลงไปอีก เช่น ลูกชายของลูกสาว       ของลูกชาย ลูกสาวของลูกสาวของลูกชาย ลูกชายของลูกสาวของ      ลูกสาวของลูกชาย เป็นต้น

      3. ตา หมายถึงพ่อของแม่ หรือชั้นที่สูงขึ้นไปอีก เช่น    พ่อของแม่ของพ่อ พ่อของแม่ของแม่และพ่อของพ่อของแม่ เป็นต้น

      4. ทวดหญิง หมายถึงยายทวดซึ่งอยู่หลังจากยายของผู้ตายหรือชั้นที่สูงขึ้นไปอีก เช่น แม่ของพ่อของแม่ แม่ของแม่    ของพ่อของแม่ เป็นต้น

       5. ลูกของพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ของผู้ตายทั้งผู้ชายและผู้หญิงเช่นลูกชายของพี่ชายหรือน้องชายร่วมมารดาเดียวกัน ลูกสาวของพี่ชายหรือน้องชายร่วมมารดาเดียวกันหรือชั้นที่ต่ำลงไปอีก

      6. ลูกของพี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน   ของผู้ตายทั้งผู้ชายและผู้หญิงเช่นลูกชายของพี่สาวร่ามบิดามารดาเดียวกัน ลูกสาวของน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน เป็นต้น

      7. ลูกของพี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดาเดียวกัน ของผู้ตายทั้งผู้ชายและผู้หญิงเช่นลูกชายของพี่สาวร่วมบิดาเดียวกันเดียวกัน ลูกสาวของน้องสาวร่วมบิดาเดียวกัน เป็นต้น

       8. ลูกสาวของพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน ของผู้ตายเช่นลูกสาวของพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน เป็นต้น

      9. ลูกสาวของพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดาเดียวกัน     ของผู้ตายเช่นลูกสาวของน้องชายร่วมบิดาเดียวกัน เป็นต้น

      10. ลุงข้างแม่

      11. น้าชาย

      12. น้าหญิง

      13. อาหญิง

      14. ป้า

      15. ลูกชายและลูกสาวของลุงข้างแม่

      16. ลูกชายและลูกสาวของน้าชาย

      17. ลูกชายและลูกสาวของน้าหญิง

      18. ลูกชายและลูกสาวของป้า

      19. ลูกชายและลูกสาวของอาหญิง

      20. ลูกชายและลูกสาวของน้าหญิง

      21. ลุงของพ่อข้างแม่

      22. ลุงของพ่อข้างป้า

      23. ลุงของพ่อข้างอาหญิง

      24. ลุงของพ่อข้างน้าหญิง

      25. ลุงของแม่ข้างแม่

      26. ลุงของแม่ข้างป่า

      27. ลุงของแม่ข้างอาหญิง

      28. ลุงของแม่ข้างน้าหญิง

      29. ลูกชายและลูกสาวของลุงของแม่ข้างแม่

      30. ลูกชายและลูกสาวของลุงของแม่ข้างป้า

      31. ลูกชายและลูกสาวของลุงของแม่ข้างอาหญิง

      32. ลูกชายและลูกสาวของลุงของแม่ข้างน้าหญิง

       

      การตัดสิทธิ์ในกองมรดก

      บุคคลที่ถูกตัดสิทธิ์ในกองมรดกในทางอิสลามส่วนนั้นได้แก่

      1. ทายาทที่ฆ่าเจ้ามรดกตาย ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าทางตรงกล่าวคือ เจตนาลงมือฆ่าด้วยตัวเอง ใช้ปืนยิง ใช้มีดฟัน เป็นต้น หรือจะเป็นการฆ่าทางอ้อม เช่น ปล่อยให้เจ้ามรดกคนพิการอดอาหารตาย เป็นต้น

      2. การนับถือศาสนาต่างกัน คนมุสลิมไม่รับมรดกจากคนต่างศาสนา และคนต่างศาสนาห้ามรับมรดกของคนมุสลิม

      3. การเป็นทาส เพราะทาสไม่มีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสิ่งใดทั้งสิ้น หรือไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเอง

       

      ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

      ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายได้แก่ ญาติ และคู่สมรส คือ สามีและภริยาของผู้ตาย[2]

      ญาติ กฎหมายได้จัดการลำดับญาติไว้แล้ว โดยให้ญาติสนิทที่สุดมีสิทธิ์ได้รับมรดกเหนือกว่าญาติที่ห่างออกไป หากญาติที่สนิทที่สุดยังมีชีวิตอยู่ญาติที่สนิทน้อยลงไปจะไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดกเลย ตามหลักที่ว่า “ญาติสนิทพิชิตญาติห่าง” สำหรับลำดับญาตินั้น กฎหมายได้กำหนดไว้เรียงตามลำดับความสนิทดังนี้

      ลำดับที่ 1 ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูกของผู้ตาย ซึ่งอาจจะได้แก่ลูกในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ

      () ลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ได้แก่ ลูกประเภทใดประเภทหนึ่งต่อไปนี้

      (1ลูกที่เกิดจากบิด (ซึ่งเป็นเจ้ามรดกกับมารดาซึ่งบิดามารดานั้นนั้นได้จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย

      (2ลูกบุญธรรมของเจ้ามรดก กล่าวคือ เป็นบุคคลที่เจ้ามรดกได้จดทะเบียนรับเป็นลูกบุญธรรม

      (3ลูกซึ่งบิดา (ซึ่งเป็นเจ้ามรดกกับมารดาได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลังจากที่ลูกได้เกิดแล้ว

      (ลูกนอกกฎหมาย หมายถึง ลูกที่บิดา (ซึ่งเป็นเจ้ามรดกไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาแต่มีพฤติการณ์ที่เปิดเผยบางอย่างของบิดาที่เป็นการรับรองว่าเด็กนั้นเป็นลูกของตน เช่น อนุญาตให้เด็กใช้นามสกุลของตน หรือเป็นธุระพาลูกไปฝากเข้าโรงเรียน หรือใครถามก็บอกว่าเป็นลูกของตน เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้ามีพฤติการณ์ดังเช่นว่านี้ เด็กนั้นก็มีสิทธิ์รับมรดกของบิดา (เจ้ามรดกเหมือนกับลูกที่ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ[3]

      ลำดับที่ 2 บิดามารดาของเจ้ามรดก ในกรณีของบิดา บิดานั้นจะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ถ้าเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (กล่าวคือ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของเจ้ามรดกแม้ว่าจะได้มีพฤติการณ์รับรองลูกนอกกฎหมายว่าเจ้ามรดกเป็นลูกตน ดังกล่าวในข้อ ขก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดกของลูกตน ส่วนมารดานั้นย่อมเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกเสมอ ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสกับบิดาของเจ้ามรดกหรือไม่ก็ตาม

      ข้อสังเกต

      (1บิดามารดาบุญธรรม ไม่มีสิทธิ์รับมรดกของลูกบุญธรรม

      (2ในกรณีที่บิดาหรือมารดาทำการสมรสใหม่ หลังจากขาดการสมรสแล้ว แม่เลี้ยงหรือพ่อเลี้ยงย่อมไม่มีสิทธิ์รับมรดกของลูกเลี้ยง

      (3ลูกเขยไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดกของพ่อตา หรือแม่ยาย และพ่อตาแม่ยายก็ไม่มีสิทธิ์รับมรดกของลูกเขยเช่นกัน

      (4ลูกสะใภ้ไม่มีสิทธิ์รับมรดกของแม่สามีหรือพ่อสามี และแม่สามีหรือพ่อสามีก็ไม่มีสิทธิ์รับมรดกของลูกเขยเช่นกัน

      (5ลูกสะใภ้ไม่มีสิทธิ์รับมรดกของแม่สามีหรือพ่อสามมี และแม่สามีหรือพ่อสามีก็ไม่มีสิทธิ์รับมรดกของลูกสะใภ้เช่นกัน

      ลำดับที่ 3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก คือ พี่น้องเจ้ามรดกที่เกิดจากบิดามารเดียวกัน

      ลำดับที่ 4 พี่น้องร่วมแต่บิดา หรือพี่น้องร่วมแต่มารดาของเจ้ามรดก (หรือที่เรียกลูกติดพ่อลูกติดแม่)

      ลำดับที่ 5 ปู่ ย่า ตา ยาย ของเจ้ามรดก หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ของเจ้ามรดกจริง ๆ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงนับถือว่าเป็นญาติ

      ลำดับที่ 7 ลุง ป้า น้า อา ของเจ้ามรดก หมายถึง ลุง ป้า น้า อา ของเจ้ามรดกจริง ๆ ไม่ใช่แต่เพียงเรียกว่า ลุง ป้า น้า อา

       

      การแบ่งมรดกระหว่างทายาทโดยธรรม

      การแบ่งมรดกระหว่างทายาทโดยธรรมนั้น แยกออกเป็น 2 กรณี คือ

      กรณีที่ การแบ่งมรดกในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีคู่สมรสในขณะตาย

      ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีคู่สมรส เช่น แต่งงานโดยไม่ได้   จดทะเบียนสมรส หรือคู่สมรสตายไปก่อน หรือจดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีเช่นนี้ก็ต้องแบ่งมรดกกันในระหว่างญาติเท่านั้น

      ในการพิจารณาว่า ทายาทประเภทญาติจะได้รับมรดกเพียงใดมีดังนี้ กฎหมายได้ให้ทายาทในลำดับที่ 1 กับลำดับที่ 2 ได้รับมรดกร่วมกันก่อนถ้าไม่มีบุคคลทั้งสองลำดับ ทายาทในลำดับที่ 3 จึงจะได้รับมรดก เช่น เจ้ามรดกตาย ในขณะตายเจ้ามรดกไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีลูก มีแต่พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน และมีลุงอีก 1 คน ตามตัวอย่าง พี่น้องจึงไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดกเพียงลำดับเดียว ส่วนลุงไม่ได้เพราะเป็นทายาทในลำดับที่ห่าง

      กรณีที่ 2 การแบ่งมรดกในกรณีที่เจ้ามรดกมีคู่สมรสอยู่ก่อนตาย

      คู่สมรสของเจ้ามรดกนี้ หมายถึง สามีหรือภรรยาของเจ้ามรดกที่ได้จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ฉะนั้น หากเป็นคู่สมรสของเจ้ามรดกที่เป็นแต่เพียงอยู่กินกับเจ้ามรดกฉันสามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย    คู่สมรสนั้นย่อมไม่มีสิทธิ์รับมรดกของเจ้ามรดกเลย แต่หากเจ้ามรดกต้องการให้คู่สมรสของตนที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมีสิทธิ์ได้รับมรดกของตน ก็จะต้องไปจดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้อง หรืออาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้กับคู่สมรสนั้น

      คู่สมรสของเจ้ามรดกที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นก็ย่อมมีสิทธิ์รับมรดกของเจ้ามรดกเสมอร่วมกับทายาทประเภทญาติที่มีสิทธิ์รับมรดกของเจ้ามรดกทุกลำดับ เพียงแต่ว่าส่วนบ่งคู่สมรสนั้นจะมากน้อยต่างกัน กล่าวคือ ถ้าเจ้ามรดกมีญาติในลำดับต้น ๆ      คู่สมรสก็จะได้ส่วนแบ่งน้อย แต่ถ้าเจ้ามรดกมีญาติ ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับท้าย ๆ คู่สมรสก็จะได้รับส่วนแบ่งมรดกมากขึ้นโดยกฎหมายได้ว่างอัตราส่วนมากน้อยไว้แล้ว



      [1] อับดุลวะฮาบ เฮาวาส (กับคณะ) คู่มือการแบ่งมรดกตามแบบอิสลาม (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เพ่อนไคโร 2555) หน้า 89.

       

      [2] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629

      [3] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627


  • หัวข้อ 6

    • หนังสือ icon

      เมื่อบุคคลตายทรัพย์สินหรือมรดกของผู้ตายจะตกทอดได้แก่ใครนั้น ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ผู้ใดก็จะเป็นไปตามพินัยกรรม แต่ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ กฎหมายกำหนดให้มรดกตกทอดแก่ทายาท ซึ่งในการแบ่งทรัพย์มรดกในทางกฎหมายอิสลามได้แยกประเภทของทรัพย์มรดกไว้ 2 ประเภทด้วยกัน คือ

      1. ทรัพย์มรดกที่จะตกแก่ทายาทที่เป็นเจ้าของสิทธิ์โดยแท้ (ฟัรฎู) เช่น สามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดาน เป็นต้น

      2. ทรัพย์มรดกที่จะตกเป็นมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      ดังนั้นหลักเกณฑ์และอัตราส่วนในการแบ่งทรัพย์มรดกในทางกฎหมายอิสลามนั้นมีอัตราส่วนตัวเลข 6 ประเภทคือ                  สภาพการณ์การก็ย่อมแตกต่างกันออกไปของแต่ละคนซึ่งจะกล่าวรายละเอียดดังนี้

       

      สามี

      ในกรณีที่ภรรยาได้เสียชีวิต การรับมรดกของสามี[1]จะแบ่งการรับมรดกไว้ 2 กรณี คือ

      กรณีที่ 1   สามีจะได้รับมรดก  ของมรดก หากผู้ตายไม่ผู้สืบสันดาน (ทั้งลูกชายและลูกสาว)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 10 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ สามีและลุงของผู้ตาย สามีก็จะได้รับมรดกเพียง   คือ ที่ดินจำนวน 5 ไร่ ส่วน ที่ดินที่เหลืออีก 5 ไร่ก็จะตกแก่ ลุง ในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 10 ไร่และเงินสดอีก 100,000 บาท และมีญาติของผู้ตายเพียง 3 คน ได้แก่ สามีและลุงของผู้ตาย 2 คน สามีก็จะได้รับมรดกเพียง   คือ ที่ดินจำนวน 5 ไร่ เงินสดอีก 50,000 บาท ส่วนที่ดินและเงินสดจำนวน ที่เหลือก็จะตกแก่ ลุงทั้ง 2 คน ในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ       (อะซอบะฮฺ) คือ ที่ดินจำนวน 5 ไร่และเงินสด อีก 50,000 บาท ซึ่งลุงทั้ง 2 คนจะต้องแบ่งเท่า ๆ กัน

      กรณีที่ 2 สามีจะได้รับมรดก   เมื่อผู้ตายมีลูก (ทั้งลูและลูกสาว)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ สามีและลูกชายของผู้ตาย สามีก็จะได้รับมรดกเพียง    คือ ที่ดินจำนวน 3 ไร่ ส่วน ที่ดินที่เหลืออีก 9 ไร่ก็จะตกแก่ลูกชาย ในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 3 คน ได้แก่ สามีและลูกชายและลูกสาวของผู้ตาย สามีก็จะได้รับมรดกเพียง   คือ ที่ดินจำนวน 3 ไร่ ส่วน ที่ดินที่เหลืออีก 9 ไร่ก็จะตกแก่ลูกชายและลูกสาว ในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

       

       

       

      ภรรยา

      ในกรณีที่สามีได้เสียชีวิต การรับมรดกของภรรยา[2]จะแบ่งการรับมรดกไว้ 2 กรณี คือ

      กรณที่ 1 ภรรยาจะได้รับมรดก   เมื่อผู้ตายไม่มีลูก (ทั้งลูกชายและลูกสาว) หรือหลานชายหรือหลานสาวที่เกิดจากลูกชาย

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ภรรยาและลุงของผู้ตาย ภรรยาก็จะได้รับมรดกเพียง   คือ ที่ดินจำนวน 3 ไร่ ส่วน ที่ดินที่เหลืออีก 9 ไร่ ก็จะตกแก่ลุงในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 20 ไร่ และเงินสดอีก 60,000 บาท และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ภรรยาและลุงของผู้ตาย ภรรยาก็จะได้รับมรดกเพียง   คือ ที่ดินจำนวน 5 ไร่ และเงินสดอีก 15,000 บาท ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 15 ไร่ และเงินสดอีก 45,000 บาท ก็จะตกแก่ลุงในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 2 ภรรยาจะได้รับมรดก เมื่อผู้ตายมีลูก (ทั้งลูกชายและลูกสาว) หรือหลานชายหรือหลานสาวที่เกิดจากลูกชาย

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 8 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ภรรยาและลูกชายของผู้ตาย ภรรยาก็จะได้รับมรดกเพียง  คือ ที่ดินจำนวน 1 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 7 ไร่ ก็จะตกแก่ลูกชายในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ     (อะซอบะฮฺ)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 32 ไร่ และเงินสดอีก 80,000 บาท และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ภรรยาและลูกชายของผู้ตาย ภรรยาก็จะได้รับมรดกเพียง  คือ ที่ดินจำนวน 3 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 29 ไร่ ก็จะตกแก่ลูกชายในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

       

       

       

       

      ลูกสาว

      การรับมรดกของลูกสาว[3]มีจะแบ่งการรับมรดกออก อยู่ 3 กรณีคือ

      กรณีที่ 1 ลูกสาวจะได้รับ    เมื่อผู้ตายมีลูกสาวเพียงคนเดียวและ ผู้ตายไม่มีลูกชายอยู่ด้วย

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ลูกสาวของผู้ตายและลุงของผู้ตาย ลูกสาวก็จะได้รับมรดกเพียง    คือ ที่ดินจำนวน 6 ไร่ ส่วน ที่ดินที่เหลืออีก 6 ไร่ก็จะตกแก่ลุงในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ     (อะซอบะฮฺ)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 24 ไร่ และมีเงินสดอีก 10,000 บาท และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ลูกสาวของผู้ตายและลุงของผู้ตาย ลูกสาวก็จะได้รับมรดกเพียง  คือ ที่ดินจำนวน 12 ไร่ เงินสดอีก 5,000 บาท ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 12 ไร่ และเงินสดอีก 5,000 บาท ก็จะตกแก่ลุงในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 2 จะได้รับ เมื่อผู้ตายมีลูกสาวมากกว่าหนึ่งคนและผู้ตายไม่มีลูกชายอยู่ด้วย

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 3 คน ได้แก่ ลูกสาวของผู้ตาย 2 คนและลุงของผู้ตาย 1 คนลูกสาวของผู้ตาย ทั้งสองคนจะได้รับมรดกรวมกัน   คือ ที่ดิน 8 ไร่ และแบ่งกัน เท่าๆ กัน เฉลี่ยคนละ 4 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 4 ไร่ ก็จะตกแก่ลุงในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 45 ไร่ และเงินสดอีก 90,000 บาท และมีญาติของผู้ตายเพียง 4 คน ได้แก่ ลูกสาวของผู้ตาย 3 คน และลุงของผู้ตาย 1 คนลูกสาวของผู้ตาย ทั้งสามคนจะได้รับมรดกรวมกัน  คือ ที่ดิน 30 ไร่ และแบ่งกัน เท่าๆ กัน ตกเฉลี่ยคนละ 10 ไร่ และเงินสดอีก 60,000 บาทและแบ่งกัน เท่าๆ กัน ตกเฉลี่ยคนละ 20,000 บาท ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 15 ไร่และเงินสดอีก 30,000 บาท ก็จะตกแก่ลุงในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

       

      กรณีที่ 3 กินส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) ร่วมกับพี่ชายหรือน้องชายของตน คือเมื่อผู้ตายมีลูกชายด้วยในสภาพอย่างนี้ผู้ชายได้รับ 2 ส่วนส่วนผู้หญิงได้ 1 ส่วน

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ลูกสาวและลูกชายของผู้ตาย ลูกสาวและลูกชายก็จะได้รับรับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) คือทั้งหมด 12 ไร่ โดยแบ่งกับ น้องชายของตน ตามสัดส่วน 1 ต่อ 2 คือ ลูกสาวจะได้รับ 4 ไร่ ส่วนลูกชายจะได้รับ 8 ไร่

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 30 ไร่ และเงินสดอีก 60,000 บาทและมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ลูกสาวและลูกชายของผู้ตาย ลูกสาวและลูกชายก็จะได้รับรับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) คือทั้งหมด 30 ไร่ และเงินสดอีก 60,000 บาท โดยแบ่งกับพี่ชายของตน ตามสัดส่วน 1 ต่อ 2 คือ ลูกสาวจะได้รับ 10 ไร่และเงินสด อีก 20,000 บาท ส่วนลูกชายจะได้รับ 20 ไร่ และเงินสดอีก 40,000 บาท

       

       

       

      หลานสาว

      หลานสาว[4] ในที่นี้หมายถึงลูกสาวของลูกชาย  ซึ่งไม่รวมถึงลูกสาวของลูกสาว

      หลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย)  แบ่งออกเป็น 6 กรณีด้วยกัน

       กรณีที่ 1 จะได้รับ  เมื่อผู้ตายมีหลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) เพียงคนเดียวหากว่าผู้ตายไม่มีทายาทสืบมรดกนอกจากนางโดยที่นางมารับมรดกแทนตำแหน่งของลูกสาวของผู้ตายนั่นเอง

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ หลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) ของผู้ตายและลุงของผู้ตาย หลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) ก็จะได้รับมรดกเพียง คือ ที่ดินจำนวน 6 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 6 ไร่ก็จะตกแก่ลุงในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 32 ไร่ และเงินสดอีก 100,000 บาท และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ หลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) ของผู้ตายและลุงของผู้ตาย หลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) ก็จะได้รับมรดกเพียง   คือ ที่ดินจำนวน 16 ไร่ และเงินสดอีก 50,000 บาท ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 16 ไร่ และเงินสดอีก 50,000 บาท ก็จะตกแก่ลุงในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 2 จะได้รับ  เมื่อผู้ตายมีหลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) มากกว่าหนึ่งคน หากว่าผู้ตายไม่มีทายาทสืบมรดกนอกจากพวกนางโดยที่พวกนางมารับมรดกแทนตำแหน่งของบรรดาลูกสาวของผู้ตายนั่นเอง

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 4 คน ได้แก่ หลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) ของผู้ตาย 3 คนและพ่อของผู้ตาย โดยหลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) ทั้ง 3 คนจะได้รับมรดก  ส่วน จะเท่ากับที่ดิน 8 ไร่ ส่วนพ่อ จะได้รับ ส่วน ซึ่งจะเท่ากับ 2 ไร่ และส่วนที่เหลืออีก 2 ไร่  ก็จะตกแก่พ่อของผู้ตายอีกในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 18 ไร่ และมีเงินสดอีก 18,000 บาท และมีญาติของผู้ตายเพียง 3 คน ได้แก่ หลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) ของผู้ตาย 2 คนและพ่อของผู้ตาย โดยหลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) ทั้ง 3 คนจะได้รับมรดก  ส่วน จะเท่ากับที่ดิน 12 ไร่ และเงินสดอีก 12,000 บาท ส่วนพ่อ จะได้รับ ส่วน ซึ่งจะเท่ากับ 3 ไร่และเงินสดอีก 3,000 บาท และส่วนที่เหลืออีก 3 ไร่และเงินสดอีก 3,000 บาท  ก็จะตกแก่พ่อของผู้ตายอีกในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 3 กินอะซอบะฮฺ (ส่วนเหลือ) ร่วมกับพี่ชายหรือน้องชายของตน กล่าวคือเมื่อผู้ตายมีหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย)  ด้วยในสภาพอย่างนี้ผู้ชายได้รับ 2 ส่วนส่วนผู้หญิงได้ 1 ส่วนหากว่าผู้ตายไม่มีทายาทสืบมรดกนอกจากหลานเหล่านี้คนหลานสาว 1 คน

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ หลานสาว1คน(ลูกสาวของลูกชาย) และหลานชาย 1 คน(ลูกชายของลูกชาย)   หลานสาว1คน(ลูกสาวของลูกชาย) และหลานชาย 1 คน(ลูกชายของลูกชาย)  ก็จะได้รับรับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) คือทั้งหมด 12 ไร่ โดยแบ่งกัน ตามสัดส่วน 1 ต่อ 2 คือ หลานสาวจะได้รับ 4 ไร่ ส่วนหลานชายจะได้รับ 8 ไร่

      กรณีที่ 4   หลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) จะได้รับส่วน   เมื่อผู้ตายมีลูกสาวอยู่ด้วย หากว่าหลานสาวมีมากกว่า 1 คนให้นำส่วน 1 ไปแบ่งให้เท่า ๆ กัน แต่ถ้าหากว่ามีหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย) ร่วมรับมรดกด้วยกับหลานสาว หลานสาวก็ จะได้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) ร่วมกับหลานชายโดยผู้ชายได้รับ 2 ส่วน ผู้หญิงได้รับ 1 ส่วน

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 3 คน ได้แก่ ลูกสาว 1 คน หลานสาว 1 คน (ลูกสาวของลูกชาย) และหลานชายอีก 1 คน(ลูกชายของลูกชาย) โดยลูกสาวจะได้รับมรดก   ส่วน คือ ที่ดิน 6 ไร่ ส่วนหลานสาว 1 คน (ลูกสาวของลูกชาย) และหลานชาย 1 คน (ลูกชายของลูกชาย) ก็จะได้รับรับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) คือทั้งหมด 6 ไร่ โดยแบ่งกัน ตามสัดส่วน 1 ต่อ 2 คือ หลานสาวจะได้รับ 2 ไร่ ส่วนหลานชายจะได้รับ 4 ไร่

       

       

       

       

       

       

      บิดา

      การรับมรดกของบิดา[5]นั้น การรับมรดกของบิดาแบ่งออกเป็น 3 กรณี กล่าวคือ

      กรณีที่ 1 บิดาจะได้รับมรดก   เมื่อผู้ตายมีลูกชายหรือหลานชาย(ลูกชายของลูกชาย)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ พ่อของผู้ตายและลูกชายของผู้ตาย พ่อก็จะได้รับมรดกเพียง   คือ ที่ดินจำนวน 2 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 10 ไร่ก็จะตกแก่ลูกชายในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 2 บิดาจะได้รับมรดก  และได้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)เมื่อผู้ตายไม่มีลูกชายหรือหลานชาย(ลูกชายของลูกชาย)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ลูกสาวของผู้ตายและพ่อของผู้ตาย ลูกสาวก็จะได้รับมรดกเพียง   คือ ที่ดินจำนวน 6 ไร่ ส่วน ไร่ ส่วนพ่อ จะได้รับ ส่วน ซึ่งจะเท่ากับ 2 ไร่ และส่วนที่เหลืออีก 4 ไร่  ก็จะตกแก่พ่อของผู้ตายอีกเช่นกัน ในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 3 บิดาจะได้รับมรดกเป็นมรดกส่วนเหลือ        (อะซอบะฮฺ)เพียงอย่างเดียว เมื่อผู้ตายไม่มีลูกชาย ลูกสาว หรือหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย) หรือหลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ภรรยาและพ่อของผู้ตาย ภรรยาก็จะได้รับมรดกเพียง   คือ ที่ดินจำนวน 3 ไร่ ส่วน ที่ดินที่เหลืออีก 9 ไร่ก็จะตกแก่พ่อในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

       

       

       

       

       

      มารดา

      การรับมรดกของมารดา[6] แบ่งออกเป็น 3 กรณี กล่าวคือ

       กรณีที่ 1 มารดาจะได้รับมรดก    เมื่อผู้ตายมีลูกชายหรือลูกสาวหรือหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย) หรือหลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) คนเดียวหรือมากกว่า 1 คน

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 3 คน ได้แก่ ลูกสาว 1 คน แม่ และลุงของผู้ตาย 1 คน ลูกสาวจะได้รับมรดก คือที่ดิน จำนวน 6 ไร่ แม่ก็จะได้รับมรดกเพียง คือ ที่ดินจำนวน 2 ไร่ ส่วน ที่ดินที่เหลืออีก 4 ไร่ก็จะตกแก่ลุงในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ แม่และลูกชายของผู้ตาย แม่ก็จะได้รับมรดกเพียง   ส่วน  คือ ที่ดินจำนวน 2 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 10 ไร่ก็จะตกแก่ลูกชายในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ            (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 2 แม่จะได้รับมรดก เมื่อผู้ตายไม่มีลูกชายหรือไม่มีลูกสาวคนเดียวหรือมากกว่านั้นหรือไม่มีหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย) หรือไม่มีหลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) คนเดียวหรือมากกว่านั้นหรือไม่มีพี่ชายหรือน้องชายพี่สาวหรือน้องสาว 2 คนหรือมากกว่านั้น

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ แม่และพ่อของผู้ตาย แม่ก็จะได้รับมรดกเพียง ส่วน คือ ที่ดินจำนวน 4 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 8 ไร่ก็จะตกแก่พ่อในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 3 แม่จะได้รับมรดก ส่วนที่เหลือ เมื่อผู้ตายทิ้งแม่ พ่อ และภรรยาหรือสามี

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 3 คน ได้แก่ พ่อ แม่ และสามีของผู้ตาย วิธีการแบ่งก็คือแบ่งส่วนของสามีไปก่อนหลังจากนั้นจึงแบ่งส่วนของพ่อกับแม่ โดยสามี จะได้รับ  ส่วน คือ ที่ดิน 6 ไร่ หลังจานั้นนำส่วนที่เหลือมาแบ่งระหว่างพ่อกับแม่ คือ แม่ ส่วน คือที่ดิน 2 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 4 ไร่ก็จะตกแก่พ่อในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      ปู่

      ปู่[7]ในที่นี้หมายถึงพ่อของพ่อหรือปู่ทวด (พ่อของพ่อของพ่อ) โดยไม่รวมถึงตาคือพ่อของแม่หรือตาทวด (พ่อของพ่อของแม่) การรับมรดกของปู่มีสภาพการณ์ในการรับมรดกอยู่ 2 กรณี คือรูปแบบที่ 1 เมื่อผู้ตายไม่มีพี่น้อง (พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน) รูปแบบที่ 2 เมื่อผู้ตายมีพี่น้อง (พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน)

      รูปแบที่ 1 เมื่อผู้ตายไม่มีพี่น้อง (พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กรณีด้วยกันทั้งนี้มีเงื่อนไงว่าจะต้องไม่มีพ่อของผู้ตายอยู่ด้วยหากมีพ่อของผู้ตายอยู่ด้วยปู่หรือปู่ทวดก็จะถูกกันโดยไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดก

      กรณีที่ 1 ปู่จะได้รับมรดก  เมื่อผู้ตายมีลูกชายหรือหลานชาย

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ปู่และลูกชายของผู้ตาย ปู่ก็จะได้รับมรดกเพียง  ส่วน คือ ที่ดินจำนวน 2 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 10 ไร่ก็จะตกแก่ลูกชายในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 2 ปู่จะได้รับมรดก  และได้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) เมื่อผู้ตายไม่มีลูกชายหรือหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ปู่และลูกสาวของผู้ตาย ลูกสาวจะได้รับมรดก ส่วน  คือ ที่ดินจำนวน 6 ไร่ส่วนปู่จะได้รับ  ส่วน คือที่ดิน 2 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 4 ไร่ก็จะตกแก่ปู่อีกเช่นกัน ในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 3 ปู่จะได้รับมรดกเป็นมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) เพียงอย่างเดียว เมื่อผู้ตายไม่มีลูกชาย ลูกสาว หรือหลายชาย (ลูกชายของลูกชาย) หรือหลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย)

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ปู้และภรรยาของผู้ตาย ภรรยาก็จะได้รับมรดกเพียง ส่วน  คือ ที่ดินจำนวน 3 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 9 ไร่ ก็จะตกแก่ปู่ในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      รูปแบบที่ 2 เมื่อผู้ตายมีพี่น้องพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน)

       ในรูปแบบที่ 2 นี้เป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่พอสมควร แต่เหล่าบรรดานักวิชาการต่างนำมุมมองของเหล่าซอฮาบะฮ์ (ผู้ติดตามที่ใกล้ชิดของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ))เป็นบรรทัดฐานซึ่งมี 3 มุมมองด้วยกันคือมุมมองของท่านอาลีอิบนิ อบีฏอลิบ มุมมองของท่านเซดอิบนิซาบิต และมุมของท่าน อิบนิมัสตุ๊ด แต่อย่างไรก็ตามจะขอกล่าวมุมมองของท่านอาลีอิบนี้อบฏอลิบซึ่งนำมาเป็นตรากฎหมายใช้ในประเทศอียิปต์โดยมีรายละเอียดดังนี้

      แนวทางหรือมุมมองของท่านอาลีอิบนี้อปัฏอลิบได้ให้นั้นเปรียบเสมือนเป็นพี่น้องคนหนึ่ง (คือมีส่วนได้เท่ากับพี่น้องนั่นเองคือผู้ชายได้รับ 2 ส่วนผู้หญิงได้รับ 1 ส่วน) เมื่อพี่น้องเป็นชายทั้งหมดหรือพี่น้องมีทั้งชายและหญิงปนกันก็ให้พิจารณาว่านั้นเป็นพี่ชายคนหนึ่งโดยมีเงื่อนไงว่าจะต้องได้ไม่น้อยกว่า  

      ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ตายทิ้งปู่พี่ชายน้องชาย (ร่วมบิดามารดาตัวอย่างเดียวกัน) 3 คน  พี่ชาย (ร่วมบิดามารดาเดียวกัน) จะได้รับ 1 ส่วน พี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันคนที่ 2 จะได้รับ 1 ส่วน น้องชาย (ร่วมบิดามารดาเดียวกัน) จะได้รับ 1 ส่วน และ ปู่ ก็จะได้รับ 1 ส่วน เช่นกัน

      ย่าหรือยาย

      ย่า[8] ในที่นี้หมายถึงแม่ของพ่อ ส่วนยาย หมายถึงแม่ของแม่  การรับมรดกของย่าและยายมีแบ่งออกเป็น 2 กรณี

      กรณีที่ 1 ย่าและยายจะได้รับมรดกเมื่อผู้ตาย  เมื่อผู้ตายไม่มีแม่

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ ยายและพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันของผู้ตาย ยายก็จะได้รับมรดกเพียง  ส่วน  คือ ที่ดินจำนวน 2 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 10 ไร่ก็จะตกแก่พี่ชายในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 2 ย่าและยายจะได้รับมรดก  ถ้าหากว่าทั้งย่าและยายยังมีชีวิตอยู่รับมรดกโดยรับมรดกร่วมกัน แต่ผู้ตายไม่มีแม่

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 3 คน ได้แก่ ย่า ยายและพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันของผู้ตาย ย่ากับยายก็จะได้รับมรดกเพียง  ส่วนร่วมกัน  คือ ที่ดินจำนวน 2 ไร่แบ่งคนละ 1 ไร ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 10 ไร่ก็จะตกแก่พี่ชายในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 3 ย่าและยาย ไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดก หากแม่ของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่

       

      พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน    

      การรับมรดกของพี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน[9] มี 3 กรณี คือ

      กรณีที่ 1 พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันจะได้ เมื่อมีคนเดียวโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีพี่ชายหรือน้องชายหรือพี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันและผู้ตายจะต้องไม่มีลูกชายหรือลูกสาวหรือหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย) หรือหลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) และจะต้องไม่มีพ่อร่วมรับมรดกด้วย

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ สามีและน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน สามี จะได้รับมรดก  ส่วน  คือ ที่ดินจำนวน 6 ไร่ ส่วนน้องสาว ก็จะได้รับ มรดก  ส่วนเช่นกัน คือที่ดิน 6 ไร่

      กรณีที่ 2 พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันมี 2 คนหรือมากกว่านั้นจะได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันและผู้ตายจะต้องไม่มีลูกชายหรือลูกสาวหรือหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย) หรือหลานสาวลูกสาวของลูกชาย) และจะต้องไม่มีพ่อร่วมรับมรดกด้วย

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 4 คน ได้แก่ แม่ น้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันและลูกชายลุงของผู้ตาย แม่จะได้รับมรดก   ส่วน  คือ ที่ดินจำนวน 2 ไร่ ส่วนน้องสาว ก็จะได้รับ มรดก   คือ 8 ไร่ แบ่งเท่า ๆกันตกคนละ 4 ไร่ ส่วนลูกชายลุงจะได้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) คือ 2 ไร่

      กรณีที่ 3 กินมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)ร่วมกับพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยผู้ชายได้ 2 ส่วนและผู้หญิงได้ 1 ส่วน

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตายมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 4 คน ได้แก่ ลูกสาวของผู้ตาย พี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน น้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน 1 คนและน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ลูกสาวจะได้รับมรดก   ส่วน  คือ ที่ดินจำนวน 6 ไร่ ส่วนพี่สาว น้องสาวและน้องชายของผู้ตาย ก็จะได้รับ ได้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) คือ 6 ไร่ โดยแบ่งอัตราส่วน ชาย 2 ส่วน หญิง 1 ส่วน น้องชาย 3 ไร่ น้องสาว 1.5 ไร่ พี่สาว 1.5 ไร่

       

      พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดาเดียวกัน

      การรับมรดกของพี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดาเดียวกัน[10]     มี  3 กรณี คือ

      กรณีที่ 1 พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดาเดียวกันจะได้ เมื่อมีคนเดียวโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีพี่ชายหรือน้องชายหรือสาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันและจะต้องไม่มีพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดาเดียวกันและผู้ตายจะต้องไม่มีลูกชายหรือลูกสาวหรือหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย) หรือหลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) รวมถึงพ่อและปู่ของผู้ตายด้วย

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 10 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ น้องสาวร่วมบิดาเดียวกัน และลุงของผู้ตาย น้องสาวร่วมบิดาเดียวกัน ก็จะได้รับมรดกเพียง  คือ ที่ดินจำนวน 5 ไร่ ส่วน ที่ดินที่เหลืออีก 5 ไร่ก็จะตกแก่ ลุง ในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 2 พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันมี 2 คนหรือมากกว่านั้นจะได้รับ  โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันและผู้ตายจะต้องไม่มีลูกชาย 3 หรือลูกสาวหรือหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย) หรือหลานสาวลูกสาวของลูกชาย) รวมถึงพ่อและปู่ของผู้ตายด้วย

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 3 คน ได้แก่ น้องสาวของผู้ตาย 2 คนและลุงของผู้ตาย 1 คนลูกสาวของผู้ตาย ทั้งสองคนจะได้รับมรดกรวมกัน คือ ที่ดิน 8 ไร่ และแบ่งกัน เท่าๆ กัน ตกเฉลี่ย คนละ 4 ไร่ ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 4 ไร่ก็จะตกแก่ลุงในฐานะผู้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      กรณีที่ 3 กินอะซอบะฮฺร่วมกับพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดาเดียวกันโดยผู้ชายได้ 2 ส่วนและผู้หญิงได้ 1 ส่วนโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีพี่ชายหรือน้องชายหรือสาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันและจะต้องไม่มีพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดาเดียวกันและผู้ตายจะต้องไม่มีลูกชายหรือลูกสาวหรือหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย) หรือหลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) รวมถึงพ่อและปู่ของผู้ตายด้วย

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ พี่สาว1คนและหลานชาย 1 คน(ลูกชายของลูกชาย)   พี่สาว และหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย)  ก็จะได้รับรับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) คือทั้งหมด 12 ไร่ โดยแบ่งกัน ตามสัดส่วน 1 ต่อ 2 คือ หลานสาวจะได้รับ 4 ไร่ ส่วนหลานชายจะได้รับ 8 ไร่

       

       

       

       

      พี่สาวหรือน้องสาวร่วมมารดาเดียวกัน

      การรับมรดกของพี่สาวหรือน้องสาวร่วมมารดาเดียวกัน[11]มี 3 กรณี คือ

      กรณีที่ 1 ถ้าหากมีคนพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันจะได้รับ ถ้าหากมีคนเดียวจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 2 คน ได้แก่ พี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน 1 คน และน้องสาวร่วมมารดาเดียวกัน 1 คน น้องสาวก็จะได้รับรับมรดก  ส่วน คือ ที่ดินจำนวน 2 ไร่ ส่วน พี่ชายของผู้ตาย จะได้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) คือทั้งหมด 10 ไร่

      กรณีที่ 2 พี่น้องร่วมมารดาเดียวกันจะได้รับ ถ้าหากมีจำนวน 2 คนหรือมากกว่านั้นจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม

      ตัวอย่างเช่น ในขณะเสียชีวิต ผู้ตาย มี ที่ดินอยู่ 12 ไร่ และมีญาติของผู้ตายเพียง 4 คน ได้แก่ แม่ของผู้ตาย พี่ชายร่วมมารดาเดียวกัน 1 คน น้องสาวร่วมมารดา 1 คน และน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน 1 คน แม่ จะได้รับมรดก  ส่วน คือ ที่ดิน 2 ไร่ พี่ชายและน้องสาวร่วมมารดาเดียวกัน จะได้รับ  คือที่ดิน 4 ไร่ โดยแบ่งสัดส่วน ชาย 2 หญิง 1 และน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน จะได้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) คือ ที่ดิน 6 ไร่

      กรณีที่ 3 พี่น้องร่วมมารดาเดียวกันจะถูกกันสิทธิ์จะไม่มีสิทธิ์รับมรดกใด ๆ เมื่อผู้ตายทิ้งทายาทจากลูกชายลูกสาวหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย) หลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) พ่อและปู่

      ตัวอย่างเมื่อผู้ตายทิ้งภรรยา 1 คนลูกชาย 1 คนและน้องชายร่วมมารดา 1 คนผู้มีสิทธิ์รับมรดก ภรรยาได้รับภรรยา ลูกชายจะได้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)ส่วน น้องชายร่วมมารดาเดียวกันไม่ได้ถูกลูกชายกันสิทธิ์

       

       

       



      [1] อับดุลวะฮาบ เฮาวาส (กับคณะ) คู่มือการแบ่งมรดกตามแบบอิสลาม (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์เพ่อนไคโร 2555) หน้า 39.

      [2] เรื่องเดียวกัน หน้า 41.

      [3] เรื่องเดียวกัน หน้า 43

      [4] เรื่องเดียวกัน หน้า 45.

      [5] เรื่องเดียวกัน หน้า 41.

      [6] เรื่องเดียวกัน หน้า 61.

      [7] เรื่องเดียวกัน หน้า 55.

      [8] เรื่องเดียวกัน หน้า 67.

      [9] เรื่องเดียวกัน หน้า 69.

      [10] เรื่องเดียวกัน หน้า 74.

      [11] เรื่องเดียวกัน หน้า 81.


  • หัวข้อ 7

    • หนังสือ icon

      ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) หรือชาวอะซอบะฮ์ หมายถึง บุคคลที่มีสิทธิ์รับมรดกทั้งหมดหากบุคคลนั้นเหลือตัวคนเดียว หรือเหลือเพียงกลุ่มกันและเป็นบุคคลที่จะได้รับมรดกส่วนที่เหลือจากชาวฟัรฎู (ทายาทที่เป็นเจ้าของสิทธิ์) ที่ได้กำหนดตาม   อัลกรุอานและอัลฮาดิษ หากบุคคลนั้นอยู่ร่วมกันกับชาวฟัรฎู

      ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

      1. ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) โดยตนเอง

      2. ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) โดยผู้อื่น

      3. ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) ร่วมกับผู้อื่น

       

      ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) โดยตนเอง

      ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) โดยตนเอง คือ ทายาทเพศชายที่ไม่ได้ถูกกั้นกลางระหว่างเจ้ามรดกกับทายาทนั้น         โดยทายาทเพศหญิง ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีสิทธิ์รับมรดกที่เป็น    เพศชาย ยกเว้นสามีและพี่ชายหรือน้องชายร่วมมารดาเดียวกัน โดยมีการแบ่งตามความสัมพันธ์แห่งการสืบสายโลหิตกับเจ้ามรดก

      ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) โดยตนเองนั้นจำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม

      กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก คือ ลูกหลานที่เป็นชายของเจ้ามรดก ได้แก่

      1.              ลูกชาย

      2.              หลานชาย (ลูกชายของลูกชาย)

      กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้สืบสายโลหิตของเจ้ามรดก คือ บรรพบุรุษของเจ้ามรดก ได้แก่

      1.              พ่อ

      2.              ปู่

      กลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้สืบสันดานของบิดาเจ้ามรดก คือ พี่น้อง ที่ไม่มีสตรีเข้ามาคั่นระหว่างเขากับเจ้ามรดก ได้แก่

      1.              พี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน

      2.              พี่ชายหรือน้องชายร่วมพ่อเดียวกัน

      3.              ลูกชายของพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน

      4.              ลูกชายของพี่ชายหรือน้องชายร่วมพ่อเดียวกัน

      กลุ่มที่ 4 กลุ่มผู้สืบสันดานของปู่ หรือของผู้สืบสายโลหิตที่อยู่ในลำดับสูงขึ้นไปจนสุดสายแล้วแต่ กรณี ได้แก่

      1.              ลุงหรืออาชายร่วมบิดามารดาเดียวกับพ่อผู้ตาย

      2.              ลุงหรืออาชายร่วมพ่อเดียวกับพ่อผู้ตาย

      3.              ลูกชายของลุงหรืออาชายร่วมบิดามารดาเดียวกับพ่อผู้ตาย

      4.              ลูกชายของลุงหรืออาชายร่วมบิดาเดียวกับพ่อผู้ตาย

      ตัวอย่าง  เมื่อผู้ตายทิ้งภรรยา 1 คนลูกชาย 1 คน ผู้มีสิทธิ์รับมรดกได้แก่ ภรรยาที่จะได้รับ ส่วนลูกชายของผู้ตายก็จะได้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ)

      ตัวอย่าง  เมื่อผู้ตายทิ้งลูกสาว 2 คนและพ่อผู้มีสิทธิ์รับมรดกส่วนที่ได้รับ  ลูกสาว 2 คน จะได้รับ ส่วนพ่อจะได้รับ  และมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) อีกเช่นกัน

       

      ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) โดยผู้อื่น

      ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) โดยผู้อื่นหมายถึงบุคคลที่เป็นเพศหญิงรับอะชอบะฮฺร่วมกับผู้ชายซึ่งอยู่ในระดับชั้นเดียวกันผู้ชายได้รับ 2 ส่วนและผู้หญิงได้รับ 1 ส่วนผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ     (อะซอบะฮฺ) โดยผู้อื่นมีดังนี้

      1.     ลูกสาวรับมรดกร่วมกับลูกชาย

      2.     หลานสาว (ลูกสาวของลูกสาว) รับมรดกร่วมกับหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย)

      3.     พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันรับมรดกกับพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน

      4.     พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดาเดียวกันรับมรดกร่วมกับพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดาเดียวกัน

      ตัวอย่าง  เมื่อผู้ตายทิ้งภรรยา 1 คนน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน 1 คนและน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน ผู้มีสิทธิ์รับมรดกได้แก่ ภรรยาในอัตรา ส่วนน้องสาวและน้องชายจะได้รับมรดกส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) โดยน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน (ได้ 1 ส่วน) น้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน (ได้ 2 ส่วน)

       

      ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) ร่วมกับผู้อื่น

      ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะซอบะฮฺ) ร่วมกับผู้อื่นหมายถึง บุคคลที่เป็นเพศหญิงโดยได้รับอะชอบะฮฺร่วมกับผู้หญิงด้วยกันในกรณีที่ผู้รับมรดกเป็นลูกสาวหรือหลานสาว (ลูกสาวของลูกชาย) ของผู้ตายซึ่งผู้กินอะซอบะฮฺร่วมกับผู้อื่นมี 2 คนด้วยกันคือ

      1.พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน

      2.พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดาเดียวกันตัวอย่างมารดาเดียวกัน

            ตัวอย่าง   เมื่อผู้ตายทิ้งลูกสาว 1 คนและน้องสาวร่วมบิดามารดา 1 คน ซึ่งลูกสาวผู้มีสิทธิ์รับมรดกจะได้รับ  ส่วน และน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกัน จะได้รับมรดกส่วนเหลือ     (อะซอบะฮฺ)


  • หัวข้อ 8

    • หนังสือ icon

      ในทางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น หลักเกณฑ์ในการแบ่งมรดกนั้น จะต้องพิจารณาจากทายาทลำดับแรกเสียก่อน หากไม่มีทายาทลำดับแรกก็จะพิจารณาทายาทลำดับรอง ซึ่งหากมีทายาทลำดับแรกแล้ว ก็จะตัดสิทธิ์ทายาทลำดับต่างๆ ซึ่งในทางกฎหมายอิสลามก็เช่นกันในการแบ่งมรดกนั้น จะพิจารณาทายาทที่มีสิทธิ์ที่จะได้รับอยู่ก่อน และจะกันสิทธิ์ทายาทในลำดับอื่นๆ โดยจะเรียกว่าบุคคลนั้นถูกกันสิทธิ์

       

      ความหมายการกันสิทธิ์ 

      การกันสิทธิ์หมายถึง การกันสิทธิ์บุคคลหนึ่งออกจากกองมรดกไม่ว่าจะเป็นการกันสิทธิ์ทั้งหมดหรือเป็นการกันสิทธิ์เพียงบางส่วนสาเหตุเพราะมีคนหนึ่งกันสิทธิ์ไว้หรือได้รับสิทธิ์ก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว

      การกันสิทธิ์นั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

      1. การกันสิทธิ์ทั้งหมด

      ตัวอย่าง เมื่อผู้ตายทิ้งภรรยารยา 1 คน ลูกชาย 1 คนและหลานชาย (ลูกชายของลูกชาย) 1 คน พี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน 1 คนและน้องสาวร่วมบิดาเดียวกัน 1 คน หลานชายไม่ได้รับมรดกเพราะถูกลูกชายกันสิทธิ์ พี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันน้องสาวร่วมบิดาเดียวกันไม่ได้ เนื่องจากถูกลูกชายกันสิทธิ์เช่นเดียวกัน

      2. การกันสิทธิ์บางส่วน

       

      ตัวอย่าง เมื่อผู้ตายทิ้งสามี ลูกชาย 1 คน  และ ลูกสาว 3 คน ผู้มีสิทธิ์รับมรดก สามี จะถูกกันสิทธิ์จาก  เหลือดพียง เนื่องจากผู้ตายมีลูก 4 คน และลูกจะได้รับมรดกส่วนที่เหลือ      (อะซอบะฮฺ) และแบ่งกัน คือ ลูกชาย (ได้ 2 ส่วน) ลูกสาว (ได้ 1 ส่วน)  ลูกสาว (ได้ 1 ส่วน) ลูกสาว (ได้ 1 ส่วน)

       

      ผู้ที่ไม่ถูกกันสิทธิ์

      ผู้ที่ไม่ถูกกันสิทธิ์ในกองมรดกมี 6 คน ได้แก่

      1. สามี

      2. ภรรยา

      3. พ่อ

      4. แม่

      5. ลูกสาว

      6. ลูกชาย

       

      ผู้ที่ถูกกันสิทธิ์

      ผู้ที่ถูกกันสิทธิ์ในกองมรดก มีดังต่อไปนี้

      1.หลานชาย ถูกกันสิทธิ์โดยลูกชายของเจ้ามรดก

      2.หลานสาว ถูกกันสิทธิ์โดยลูกชายหรือลูกสาวของ เจ้ามรดก 2 คนขึ้นไป

      3.ปู่ (บิดาของบิดา) ถูกกันสิทธิ์โดยบิดาของเจ้ามรดก

      4.ย่า (มารดาของบิดา) ถูกกันสิทธิ์โดยมารดาของ           เจ้ามรดกและบิดาของเจ้ามรดก

      5.ยาย (มารดาของมารดา) ถูกกันสิทธิ์โดยมารดาของ   เจ้ามรดก

      6.พี่น้องชายร่วมบิดามารดา ถูกกันสิทธิ์โดยลูกชาย บิดา หลานชายของเจ้ามรดกพี่น้องชายร่วมแต่บิดา ถูกกันสิทธิ์โดยลูกชาย บิดา หลานพี่น้องชายร่วมแต่มารดา ถูกกันสิทธิ์โดยบิดา ปู่ ลูกชาย หลานชายอันเกิดจากลูกชาย ลูกสาวหลานสาวอันเกิดลูกชายของเจ้ามรดก

      7.พี่น้องหญิงร่วมบิดามารดา ถูกกันสิทธิ์โดยลูกชาย บิดา หลานชายของเจ้ามรดก

      8.พี่น้องหญิงร่วมแต่บิดา ถูกกันสิทธิ์โดยลูกชาย บิดา หลานชาย พี่น้องชายร่วม บิดามารดา พี่น้องสาวร่วมบิดามารดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

      9.พี่น้องสาวร่วมแต่มารดา ถูกกันสิทธิ์โดยบิดา ปู่ ลูกชาย หลานชายอันเกิดจาก ลูกชาย ลูกสาว หลานสาวอันเกิดจากลูกชายของเจ้ามรดก

      10.ชาย พี่น้องชายร่วม บิดามารดาของเจ้ามรดก

      11.ลูกชายของพี่น้องชายร่วมบิดามารดา ถูกกันสิทธิ์โดยบิดา ปู่ ลูกชาย หลานชายอันเกิดจากลูกชาย พี่น้องชายร่วมบิดามารดา พี่น้องชายร่วมบิดา พี่น้องสาวร่วมบิดามารดาเมื่อได้รับส่วนเหลือ

      12.ลูกชายของพี่น้องชายร่วมแต่บิดา ถูกกันสิทธิ์โดยบิดา ปู่ ลูกชาย พี่น้องชาย ร่วมบิดามารด พี่น้องชายร่วมแต่บิดา พี่น้องหญิงร่วมบิดามารดาเมื่อได้รับส่วนที่เหลือ พี่น้องหญิงร่วม แต่บิดากับเจ้ามรดกเมื่อได้รับส่วนที่เหลือ (อะซอบะฮ์)

      13.ลุงหรืออาร่วมบิดามารดาของเจ้ามรดก ถูกกันสิทธิ์โดยบิดา ปู่ ลูกชาย หลานชายอันเกิดจากลูกชาย พี่น้องชายร่วมบิดามารดา ลูกชายของพี่น้องชายร่วมบิดาและมารดา

      14.ลุงหรืออาร่วมแต่บิดากับบิดาของเจ้ามรดก ถูกกันสิทธิ์โดยบิดา ปู่ ลูกชาย หลานชายอันเกิดจากลูกชาย พี่น้องชายร่วมบิดามารดา พี่น้องชายร่วมแต่บิดา พี่น้องหญิงร่วมบิดา มารดาเมื่อได้รับส่วนที่เหลือ พี่น้องหญิงร่วมแต่บิดาเมื่อได้รับส่วนที่เหลือ ลูกชายของพี่น้องชายร่วม บิดามารดา ลูกชายของพี่น้องชายร่วมแต่บิดา ลุงหรืออาร่วมบิดามารดากับบิดาของเจ้ามรดก

      15.ลูกชายหรือลุงของอาร่วมบิดามารดากับบิดาของเจ้ามรดก ถูกกันสิทธิ์โดย บิดา ปู่ ลูกชาย หลานชาย พี่น้องชายร่วมบิดามารดา พี่น้องชายร่วมแต่บิดา พี่น้องหญิงร่วมบิดา มารดาเมื่อได้รับส่วนเหลือ พี่น้องหญิงร่วมแต่บิดาเมื่อได้รับส่วนที่เหลือลูกชายของพี่น้องชายร่วมบิดา มารดา ลูกชายของพี่น้องชายร่วมบิดากับเจ้ามรด

      16.ลูกชายของลุงหรืออาร่วมบิดากับบิดาของเจ้ามรดก ถูกกันสิทธิ์โดยบุคคลใน ข้อที่กล่าวก่อนหน้านี้ และลูกชายของพี่น้องชายของเจ้ามรดกที่ร่วมบิดามารดากับเจ้ามรดก

       ***หมายเหตุถ้าหากพี่น้องหญิงร่วมบิดามารดากับเจ้ามรดกหรือพี่น้องหญิงร่วมบิดากับเจ้ามรดก ได้รับส่วนที่เหลือร่วมกับผู้อื่นแล้ว ก็สามารถกันสิทธิ์ของผู้อื่นได้ดังเช่นกรณีของพี่น้องชาย


  • หัวข้อ 9

    • หนังสือ icon

      ทารกในครรภ์มารดา[1] ก็สามารถจะรับสิทธิ์ต่าง ๆ ได้ หากภายหลังเกิดมาแล้วอยู่รอด ซึ่งเราได้ทราบแล้วว่าทารกในครรภ์มารดานั้นเราถือว่ายังไม่มีสภาพบุคคล แต่กฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิ์ของทารกในครรภ์มารดาให้มีสิทธิ์เหมือนผู้มีสภาพบุคคลตามปรกติทุกประการโดยเงื่อนไขว่า ทารกนั้นเมื่อคลอดออกมาแล้วต้องรอดอยู่ด้วย ดังนั้นหากมีการคลอดออกมาในลักษณะที่ทารกไม่มีชีวิตทารกนั้นก็ไม่มีสิทธิ์ เช่น บิดาตายเสียตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา หากกฎหมายไม่บัญญัติรับรองสิทธิ์ให้ ทารกนั้นก็จะไม่ได้รับมรดกของบิดาในฐานะทายาทโดยธรรมทั้ง ๆ ที่เขาเป็นทายาทโดยธรรม การที่บิดาตายเสียก่อนที่เขาจะเกิดมานั้นหาใช่ความผิดของทารกไม่ กฎหมายจึงบัญญัติสิทธิ์ไว้ให้เขามีสิทธิ์เหมือนพี่คนอื่น ๆ ซึ่งเกิดก่อนเขาทุกประการ ดังนั้นหากเขาเกิดมาและมีชีวิตรอดอยู่ได้เขาก็มีสิทธิ์แบ่งมรดกกับพี่ ๆ ซึ่งเป็นทายาทชั้นเดียวกันได้เช่นกัน

      ในทางกฎหมายอิสลาม ในกรณีที่เจ้ามรดกมีทายาทเป็นทารกในครรภ์มารดา ไม่ว่าเจ้ามรดกจะมีทายาทอื่นอยู่ด้วย หรือไม่ ให้ระงับการแบ่งทรัพย์มรดกไว้ก่อนจนกว่าจะให้กำเนิดทารกนั้น ยกเว้นกรณีที่เจ้ามรดกมี ทายาทอื่นที่ส่วนแบ่งของทายาทเหล่านั้นจะไม่เปลี่ยนแปลไม่ว่าสภาพทารกในครรภ์จเป็นอย่างไร รวมอยู่ด้วย ในกรณีเช่นว่านี้ ให้แบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาทอื่นนั้นไปก่อน ส่วนทายาทอื่นนอกจาก ทายาทเหล่านั้นให้รอไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ส่วนในกรณีที่ไม่ชัดเจนว่าระยะ การตั้งครรภ์นั้นจะยาวนานเท่าใด ให้ถือระยะเวลาสี่ปีนับแต่เริ่มตั้งครรภ์เป็นจุดสิ้นสุดการตั้งครรภ์ ส่วนกรณีที่ไม่ชัดเจนว่าเวลาแห่งการตั้งครรภ์ ให้นับแต่วันคลอดลงไปจนถึงวันเริ่มตั้งครรภ์มีระยะเวลา ไม่น้อยกว่าหกเดือน

       



      [1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15


  • หัวข้อ 10

    • หนังสือ icon

      ความหมายผู้ที่สาบสูญ

      ผู้ที่สาบสูญ หมายถึง บุคคลที่หายไปจากภูมิลำเนาโดยได้ร่องรอยและไม่มีใครรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหนและยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว

             

      การสาบสูญตามฎหมายแพ่งและพาณิชย์

       สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้วางหลักเกณฑ์ผู้ไม่อยู่ที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้ว กฎหมายให้สันนิษฐานว่าถึงแก่ความตาย เป็นกรณีถึงแก่ความตายโดยผลของกฎหมาย หลักเกณฑ์ที่จะขอให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ ดังนี้[1]

      ·           ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่

      ·           ไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

      ·           เป็นเวลา 5 ปี (เป็นการขอในกรณีธรรมดา)

      การไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร หมายความว่า บุคคลนั้นหายไปจากบ้านเฉย ๆ เช่น บอกว่าจะไปทำงานที่ต่างจังหวัด แล้วไม่กลับมาอีกเลย หรือ หนีออกจากบ้านไปเฉย ๆ แล้วไม่กลับมาอีกเลย และ ไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ คือ ไม่มีใครทราบข่าวคราว ไม่เคยติดต่อญาติเลย ไม่มีใครพบเห็นอีกเลย และ การหายไปนั้นได้หายไปเป็นเวลา 5 ปี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งว่าบุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญได้ เมื่อศาลมีคำสั่งดังกล่าวแล้ว

      กฎหมายให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย สิทธิ์หน้าที่ของบุคคลนั้นย่อมระงับลง ทรัพย์สินของบุคคลนั้นตกแก่ทายาททันที[2] การที่กฎหมายใช้คำว่าสันนิษฐาน” นี้ หมายความว่า เป็นแต่เพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้นเพราะความหวังว่าจะกลับมานั้นแทบไม่มี แต่หากกลับมาก็สามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งว่าเขาเป็นคนสาบสูญได้

      ส่วนการขอในกรณีพิเศษนั้น คือหากมีเหตุตาม (1) – (3) ระยะเวลา 5 ปีจะลดเหลือเพียง 2 ปี ผู้มีสิทธิ์ร้องขอคือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการเหมือนกรณีการยื่นขอกรณีธรรมดา

      1. นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและ หายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

      เช่น A เป็นทหารซึ่งประเทศไทยส่งไปร่วมรบที่ประเทศติมอร์ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2555 การรบสิ้นสุดในวันที่ 25 ธันวาคม 2555 จนกระทั่งบัดนี้ A ไม่กลับมาประเทศไทยอีกเลย และไม่มีผู้ใดพบศพ (ถือว่าหายไปเพราะถ้าพบศพก็ไม่หาย) ดังนั้นวันแรกที่จะเกิดสิทธิ์ในการร้องขอให้เอเป็นบุคคลสาบสูญได้คือวันที่ 25 ธันวาคม 2557

      2.นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลายหรือสูญหายไป

      เช่น A ขึ้นเครื่องบินเดินทางไปมาเลเซีย ในวันที่ 15 ธันวาคม 2555 เครื่องบินตกวันนั้นวันแรกที่จะขอให้ A เป็นคนสาบสูญได้คือวันที่ 15 ธันวาคม 2557 แต่ถ้าเหตุภยันตรายนั้นคงมีต่อเนื่อง เช่น วันที่ 15 ธันวาคม 2555  A ล่องเรือออกทะเลแล้วเกิดพายุ ในวันที่ 16 ทางชายฝั่งไม่ได้รับสัญญาณจากเรือ วันที่ 17 พายุสงบ วันที่เริ่มนับคือวันที่ไม่ได้รับสัญญาณจากเรือ ดังนั้นวันที่จะร้องได้คือวันที่ 16 ธันวาคม 2555 แต่ถ้าไม่มีการตรวจสัญญาณเลยต้องรอจนพายุสงบแล้วไม่พบเรือหรือไม่ติดต่อกลับมาอีก วันแรกจะเป็นวันที่  17 ธันวาคม 2555 แล้วแต่ว่าเราไม่สามารถติดต่อบุคคลนั้นได้ในวันใด หรือไม่สามารถทราบข่าวคราวของเขาในวันใด

      3. นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน 1. หรือ 2. ได้ผ่านพ้นไปถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น 

      เช่น วันที่15 ธันวาคม 2555 นาย A เดินทางจากกรุงเทพมหานครไปเที่ยวที่ญี่ปุ่น ญาตินาย A ทราบว่านาย A ไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วจะกลับมาหลังปีใหม่ ปรากฏว่าในวันที่ 26 ธันวาคม 2555 เกิดคลื่นยักษ์ซินามิขึ้นที่ญี่ปุ่น หลังเกิดเหตุการณ์ญาติออกตามหาแต่ไม่พบนาย A  การนับระยะเวลาจะต่างจากผู้ไม่อยู่เพราะไม่ได้นับวันปี แต่นับวันที่ภยันตรายได้ผ่านพ้นไป เมื่อภยันตรายผ่านพ้นไปในวันที่ 26 ธันวาคม จะร้องขอให้เป็นคนสาบสูญได้ก็ต่อเมื่อถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2557

      การแบ่งมรดกในกรณีที่ของคนสาบสูญ กรณีที่เจ้ามรดกหรือทายาทได้หายสาบสูญซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าตายแล้วหรือไม่ ให้จัดการ ทรัพย์มรดก ดังนี้

      ·           กรณีที่ทายาทได้หายสาบสูญ ให้ทายาทอื่นรับส่วนของตน

      ·           กรณีที่เจ้ามรดกเป็นคนสาบสูญ ให้ระงับการแบ่งมรดกไว้ก่อนจนกว่าจะชัดเจนว่าได้หาย สาบสูญจริง ในกรณีที่ทายาทได้ตายก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้เจ้ามรดกเป็นคนสาบสูญ ทายาทนั้นไม่มี สิทธิ์ได้รับมรดก

       

      การคำนวณอายุของบุคคลที่หายสาบสูญ

      การคำนวณอายุของบุคคลที่หายสาบสูญในทางกฎหมายอิสลามนั้น มีแนวทางในการชี้ขาดของศาลตุลาการว่าบุคคลที่หายสาบสูญนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และสามารถนำสินทรัพย์ของเขาออกมาแบ่งได้หรือไม่? โดยมีมุมมองจากหลาย ๆ มัซฮับ ดังนี้

      ·           มัซฮับชาฟีอีย์  มีความเห็นว่าให้นับอายุของเขาให้ได้ 90 หากเขายังไม่กลับมาก็ให้ถือเขาได้ตายไปแล้ว

      ·           มัซฮับฮานาฟีย์ให้มุมมองว่าให้คำนวณจากการสูญหายของเขาให้ได้ 90 ปี (ราวอายุของบุคคลที่หายสาบสูญ 90-120 ปี)

      ·           มัซฮับฮัมบะลีย์มีความเห็นว่าให้นับอายุของเขาให้ได้ 90 ปีหากเขายังไม่กลับมาก็ให้ถือเขาได้ตายไปแล้วหรือให้ศาลตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดโดยอาศัยหลักฐานและเหตุผลประกอบการในหลาย ๆ ด้าน

      ·           มัซฮับมาลิกีย์มีมุมมองว่าให้นับอายุของเขาให้ได้ 70 ปีหากเขายังไม่กลับมาก็ให้ถือเขาได้ตายไปแล้ว

      ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่าบุคคลที่หายสาบสูญโดยไม่รู้ข่าวใด ๆ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนเป็นตายร้ายดีอย่างไร? ดังนั้นสินทรัพย์ของเขาจะนำออกมาแบ่งไม่ได้จนกว่าจะผ่านพ้นไปประมาณการโดยนับอายุไขของเขาให้ครบ 70-120 ปีหรือให้ศาลตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดโดยอาศัยหลักฐานและเหตุผลประกอบการในหลาย ๆ ด้านเช่นเดินทางการศึกษาต่างเมืองแดนไกลแล้วหายสาบสูญไปหรือเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์แล้วหายสาบสูญไปเป็นต้น

       



      [1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61

      [2] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1602